#echo banner="" พุทธประวัติทัศนศึกษา 04 พระธรรมโกศาจารย์ (ชอบ อนุจารี)

พุทธประวัติทัศนศึกษา

พระธรรมโกศาจารย์ (ชอบ อนุจารี)

โพสท์ในกระทู้ลานธรรม มูลนิธิอภิธรรมมูลนิธิ โดย ดอกแก้ว [28 ก.พ. 2546]

ตอนที่ ๒๖

เสด็จโปรดพระปัญจวัคคีย์

ต่อนั้น ก็ทรงพระดำริหาคนที่ควรจะได้รับเทศนาครั้งแรก ได้ทรงปรารภถึงอาฬารดาบส และอุทกดาบส ที่พระองค์ได้เคยอยู่อาศัยศึกษาลัทธิของท่านในกาลก่อน ว่า ท่านทั้งสองนี้มีปัญญา ทั้งมีกิเลสเบาบาง สามารถจะรู้ธรรมนี้ได้ฉับพลัน แต่ท่านทั้งสองได้สิ้นชีพเสียแล้วก่อนหน้า ๗ ราตรี มัจจุ คือความตาย เป็นมาร เป็นภัยต่อคุณอันใหญ่ของท่านทั้งสอง ถ้าท่านยังมีชีวิตอยู่ ได้ฟังธรรมแล้วคงจะได้ตรัสรู้โดยฉับพลันทีเดียว

ภายหลังทรงระลึกถึงปัญจวัคคีย์ว่า เป็นผู้มีอุปนิสสัยในอันจะตรัสรู้ธรรม ทั้งมีอุปการะแก่พระองค์มาก ได้เป็นอุปฐากของพระองค์เมื่อครั้งทรงบำเพ็ญทุกกรกิริยา ครั้นทรงกำหนดแน่ในพระทัยว่า จะแสดงธรรมแก่ปัญจวัคคีย์ก่อน ดังนั้น ครั้นเวลาเช้าแห่งวันจาตุททสี ดิถีขึ้น ๑๔ ค่ำ แห่งอาสาฬหมาส คือ เดือน ๘ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทำภัตกิจเสร็จแล้ว ก็เสด็จดำเนินไปโดยทางที่จะไปยังเมืองพาราณสี อันเป็นทางระหว่างแห่งแม่น้ำคยา กับแดนมหาโพธิ์ต่อกัน ทรงพบอาชีวกผู้หนึ่ง มีนามว่า อุปกะ เดินสวนทางมา ฝ่ายอุปกะได้เห็นพระรัศมีฉวีวรรณของพระผู้มีพระภาพงดงามผ่องใส อย่างที่ไม่เคยเห็นมาแต่ก่อน ก็ประหลาดใจ คิดไปว่า คนผู้นี้ไฉนหนอจึงมีรัศมีโอภาสงามผุดผ่อง เป็นสง่าน่าเคารพยิ่งนัก จึงเข้าไปใกล้แล้วปราศรัยด้วยคารวะเป็นอันดีว่า

“ข้าแต่สมณะ อินทรีย์ของท่านผ่องใส บริสุทธิ์ปราศจากราคี ท่านบวชในสำนักไหน ใครเป็นครูของท่าน ท่านเล่าเรียนปฏิบัติธรรมในสำนักอาจารย์ผู้ใด กรุณาแจ้งให้ข้าพเจ้าทราบด้วย”

พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า

“ดูกร อุปกะ ตถาคตเป็นสยัมภู ตรัสรู้เองด้วยปัญญายิ่ง ไม่มีใครเป็นครูอาจารย์สั่งสอน เป็นสัพพัญญู ตรัสรู้ธรรมทั้งมวล ไม่มีสิ่งใดที่ควรจะรู้ ซึ่งตถาคตไม่รู้ อุปกะ เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ตถาคตแสดงว่าใครเป็นครูสั่งสอนเล่า”

อุปกะไม่เชื่อ ด้วยไม่มีญาณที่จะหยั่งเห็นตาม ทั้งไม่มีความรู้ที่จะซักถามถึงเหตุอื่นอีกได้ สั่นศีรษะแล้วก็หลีกไปจากที่นั้น ตามสันดานของอาชีวก ที่มีทิฏฐิ ที่มั่นแต่ในลัทธิของตนเท่านั้นว่าถูก อาจารย์ของตนรู้จริง คนอื่นเปล่า ต่อนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าก็เสด็จโดยทางนั้นต่อไป พอเพลาสายัณห์ก็บรรลุถึงป่าอิสิปตนมฤคทายวัน

ขณะนั้น ปัญจวัคคีย์ ฤาษีทั้ง ๕ ได้แลเห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จมาแต่ไกล จึงกล่าวนัดหมายกันว่า พระสมณะโคดม เลิกละความเพียรในการบำเพ็ญตบะ ในทุกรกิริยา บัดนี้ มีร่างกายผ่องใสงดงามยิ่งนัก คงจะไม่มีโอกาสได้บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว เสด็จมา ณ ที่นี้ ชรอยจะมีความรำคาญไม่สบายพระทัย อยู่ไม่ได้โดยลำพังพระองค์เดียว จึงเที่ยวสืบเสาะแสวงหาเรา ดังนั้น ในบรรดาพวกเรา ใครอย่าทำปัจจุคมต้อนรับ อย่าไหว้อย่ากราบ อย่ารับบาตรจีวร ปูลาดแต่อาสนะไว้ถวาย ด้วยพระองค์เป็นกษัตริย์ขัตติยตระกูลมหาศาล หากพระองค์ปรารถนาจะนั่ง ก็จะได้นั่งตามประสงค์ ครั้นทำกติกาสัญญานัดหมายแล้ว ก็ทำนั่งเพิกเฉยแสดงอาการไม่เคารพ ไม่ยินดีในการเสด็จมาของพระผู้มีพระภาคเจ้า

แต่ครั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จเข้ามาใกล้ ก็บรรดาลให้ปัญญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ลืมกติกาสัญญาที่ทำกันไว้หมด พากันลุกขึ้นยืนประนตน้อมอัญชลี รับบาตร จีวร บางรูปตักน้ำมาล้างพระยุคลบาท บางรูปก็ร้องทูลเชิญให้เสด็จประทับ เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จประทับนั่งแล้ว ปัญจวัคคีย์ได้กล่าวปฏิสันถาร ถามถึงทุกข์สุขตามวิสัยของคนที่ต่างถิ่นมาไกลได้พบกัน หากแต่ใช้สำนวนต่ำ ๆ ว่า อาวุโส โคตมะ อันเป็นกิริยาไม่เคารพ ซึ่งไม่เป็นการสมควร

แต่พระผู้มีพระภาคได้ตรัสบอกว่า

“ดูกร ปัญจวัคคีย์ บัดนี้ ตถาคตได้ตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว มาครั้งนี้หวังจะแสดงธรรมแก่เธอทั้ง ๕ เธอจงตั้งใจสดับ และปฏิบัติตามคำของตถาคต ไม่ช้านานสักเท่าใด ก็จะได้ตรัสรู้ตาม”

ปัญจวัคคีย์ไม่เชื่อ กลับคัดค้านว่า

“อาวุโส โคตมะ แม้แต่กาลก่อน พระองค์ทรงบำเพ็ญตบะ ทำทุกรกิริยาด้วยความเพียรอย่างแรงกล้า ก็ยังไม่สำเร็จแก่พระสัมมาสัมโพธิญาณ แล้วไฉนเลิกละความเพียรเวียนมาเป็นผู้มักมากแล้ว พระองค์จะตรัสรู้พระสัมโพธิญาณได้เล่า”

แม้พระบรมศาสดาจะตรัสเตือนซ้ำอีก ปัญจวัคคีย์ก็ยังไม่เชื่อ กล่าวโต้แย้งถึง ๓ ครั้ง พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสเตือนด้วยพระกรุณา ให้ปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ หวลระลึกถึงความหลังดูว่า

“ดูก่อนปัญจวัคคีย์ วาจาที่ไม่ควรเชื่อคำใด ตถาคตเคยกล่าวอยู่บ้างหรือ แม้แต่คำว่า ตถาคตได้ตรัสรู้พระสัมโพธิญาณนี้ ตถาคตเคยกล่าวกะใคร ที่ไหน แต่กาลก่อน”

ด้วยอานุภาพของพระวาจาจริงของพระองค์ เป็นอัศจรรย์ ทำให้พระปัญจวัคคีย์ระลึกเห็นตาม พากันแน่ใจว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า คงจะได้ตรัสรู้จริงดังพระวาจา ก็พร้อมกันถวายบังคมพระยุคลบาทด้วยคารวะ ขอประทานอภัยโทษที่แสดงอาการไม่เคารพต่อพระองค์ในเบื้องต้นทุกประการ

ตอนที่ ๒๗

ปฐมเทศนา

พระผู้มีพระภาคเสด็จประทับพักในสำนักปัญจวัคคีย์ ๑ ราตรี ครั้นรุ่งขึ้นเป็นวันปัณณรสี ขึ้น ๑๕ ค่ำ อาสาฬหมาส พระองค์จึงได้ทรงประกาศพระธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ประทานปฐมเทศนาแก่พระปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ รูปนั้นว่า

“ภิกษุทั้งหลาย ที่สุด ๒ อย่าง บรรพชิตไม่ควรนิยมยินดี คือ

กามสุขขัลลิกานุโยค ทำตัวให้พัวพันด้วยสุขในกาม เป็นธรรมอันเลว เป็นเหตุตั้งบ้านตั้งเรือน เป็นของคนมีกิเลสหนา ไม่ใช่ของพระอริยะคือผู้บริสุทธิ์ไม่เป็นประโยชน์นี้อย่างหนึ่ง

อัตตกิลมถานุโยค ทำตนให้ลำบากเป็นทุกข์ ไม่ทำให้เป็นพระอริยะ ไม่เป็นประโยชน์นี้อย่างหนึ่ง ทั้งสองอย่างนี้ อันบรรพชิตไม่ควรนิยมยินดี มัชฌิมาปฏิปทา เราได้ตรัสรู้แล้ว ทำดวงตาปรีชาญาณให้สว่าง เป็นไปเพื่อความสงบระงับ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน คือสิ้นตัณหาเครื่องรัดรึง”

มัชฌิมาปฏิปทา นั้นเป็นอย่างไร ?

มัชฌิมาปฏิปทา นั้นคือ ทางมีองค์ ๘ ทำผู้ดำเนินให้เป็นพระอริยะนั้นเอง

องค์ ๘ นั้น อะไรบ้าง ?

องค์ ๘ นั้น คือปัญญาความเห็นชอบ ๑ ความดำริชอบ ๑ วาจาชอบ ๑ การงานชอบ ๑ เลี้ยงชีวิตชอบ ๑ ความเพียรชอบ ๑ ระลึกชอบ ๑ ตั้งใจชอบ ๑

มัชฌิมาปฏิปทานี้แล เราได้ตรัสรู้แล้ว ทำดวงตาปรีชาญาณให้สว่าง เป็นไปเพื่อความสงบระงับ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน

ภิกษุทั้งหลาย ทุกข์นี้อย่างหนึ่งเป็นสัจจะของพระอริยบุคคล คือ ความเกิดเป็นทุกข์ ความแก่เป็นทุกข์ ความตายเป็นทุกข์ ความแห้งใจ ความรำพัน ความเจ็บไข้ ความเสียใจ ความคับใจ เป็นทุกข์ ความประจวบด้วยสิ่งไม่เป็นที่รัก ความพลัดพรากจากสิ่งที่รัก เป็นทุกข์ ความปรารถนาไม่สมหวังเป็นทุกข์

ทุกขสมุทัย เหตุให้เกิดทุกข์นี้อย่างหนึ่ง เป็นสัจจะของอริยบุคคล คือ ตัณหา ความทะยานอยาก ทำให้มีภพมีชาติ สหรคตด้วยความกำหนัดยินดี เพลิดเพลินในอารมณ์นั้นๆ

ตัณหา อะไรบ้าง?

กามตัณหา คือ ความทะยานอยากในอารมณ์ที่ใคร่ ๑

ภวตัณหา คือ ความทะยานอยากในความมีความเป็น ๑

วิภวตัณหา คือ ความทะยานอยากในความไม่มีไม่เป็น ๑

ตัณหา ๓ ประการนี้แล เป็นเหตุให้เกิดทุกข์

ทุกขนิโรธ ความดับทุกข์นี้อย่างหนึ่ง เป็นสัจจะของอริยบุคคล คือ ความดับตัณหาทั้ง ๓ นั้นแหละหมดสิ้น เป็นอเสสวิราคะ ความสละความวาง ความปล่อย ความไม่พัวพันซึ่งตัณหานั้นแลเป็นความดับทุกข์

ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ทางเข้าถึงความดับทุกข์นี้อย่างหนึ่ง เป็นสัจจะของอริยบุคคล ได้แก่ อริยมรรค ทางมีองค์ ๘ นี้แล ปัญญาความเห็นชอบ ๑ ความดำริชอบ ๑ วาจาชอบ ๑ การงานชอบ ๑ เลี้ยงชีวิตชอบ ๑ ความเพียรชอบ ๑ ระลึกชอบ ๑ ตั้งใจชอบ ๑ เป็นทางถึงความดับทุกข์

ภิกษุทั้งหลาย ดวงตา ญาณ ปัญญา วิชชา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแก่เรา ในธรรมทั้งหลายที่เราเคยฟังแล้วในกาลก่อนว่า

ข้อนี้ ทุกข์ ควรกำหนดรู้ด้วยปัญญา และเราก็ได้กำหนดรู้แล้ว

ข้อนี้ ทุกขสมุทัย เหตุให้ทุกข์เกิด ควรละเสีย และเราได้ละเสียแล้ว

ข้อนี้ ทุกขนิโรธ ความดับทุกข์ ควรทำให้แจ้งชัด และเราก็ได้ทำให้แจ้งชัดแล้ว

ข้อนี้ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ทางเข้าถึงความดับทุกข์ ควรทำให้เกิด และเราก็ได้ทำให้เกิดแล้ว

ภิกษุทั้งหลาย ปัญญาอันรู้เห็นตามเป็นจริงในอริยสัจ ๔ อันมีรอบ ๓ มีอาการ ๑๒ อย่างนี้ ยังไม่หมดจดเพียงใดแล้ว เราก็ยังไม่อาจยืนยันว่า เป็นผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ ไม่มีความรู้อันใดเหนือเพียงนั้น

เมื่อใด ปัญญาอันรู้เห็นตามเป็นจริง ในอริยสัจ ๔ เหล่านี้ของเราหมดจดดีแล้ว เมื่อนั้นเราอาจยืนยันตนว่า เป็นผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ ไม่มีความรู้อันใดเหนือ ก็แลปัญญาได้เกิดขึ้นแก่เราชัดว่า ความหลุดพ้นของเราไม่กลับกำเริบ ความเกิดครั้งนี้เป็นที่สุดแล้วบัดนี้ ไม่มีความเกิดอีก

เมื่อพระสัมพุทธเจ้า ตรัสพระธรรมเทศนาอยู่ ธรรมจักษุ คือ ดวงตาอันเห็นธรรม ปราศจากธุลีมลทิน ได้เกิดขึ้นแล้วแก่ท่านโกณฑัญญะว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่ง มีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมด มีความดับเป็นธรรมดา” พระองค์ทรงทราบว่าท่านโกณฑัญญะ ได้เห็นธรรมแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานด้วยความเบิกบานพระทัยว่า "อัญญาสิ วตโภ โกณฑัญโญๆ” แปลว่า "โกณฑัญญะ ได้รู้แล้วหนอๆ” พระโกณฑัญญะจึงได้คำว่า อัญญา อันเป็นคำนำหน้าพระอุทาน เพิ่มชื่อข้างหน้าเป็น พระอัญญาโกณฑัญญะ ตั้งแต่กาลนั้นมา

เมื่อพระผู้มีพระภาค ทรงแสดงธัมมจักกัปปวัตตนสูตรจบลง ให้พระอัญญาโกณฑัญญะได้บรรลุโสดาปัตติมรรค เป็นพระโสดาบันแล้ว และให้บรรดาอเนกนิกรเทพยดาที่มาประชุมฟังธรรมเทศนาอยู่ ได้บรรลุคุณวิเศษโดยควรแก่วิสัย สุดที่จะคณนา

พระโกณฑัญญะจึงได้ทูลขออุปสมบทเป็นภิกษุ ในพระธรรมวินัยของพระสัมพุทธเจ้า พระองค์ทรงประทาน เอหิภิกขุอุปสัมปทา ให้เป็นภิกษุในธรรมวินัย ด้วยพระวาจาว่า

“ท่านจงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว ท่านจงประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบเถิด”

ด้วยพระวาจาเพียงเท่านั้นก็ได้สำเร็จเป็นภิกษุในพระธรรมวินัยอย่างสมบูรณ์ ด้วยในเวลานั้นยังมิได้ทรงบัญญัติวิธีอุปสมบทเป็นอื่นไว้ ทั้งเพิ่งเป็นการประทานอุปสมบทครั้งแรกในพระศาสนา ฉะนั้นพระอัญญาโกณฑัญญะจึงเป็นพระสงฆ์องค์แรก เป็นพระอริยบุคคลองค์แรก และเป็นพระสาวกองค์แรกในพระศาสนานี้ เป็นอันว่า พระรัตนตรัย คือ พระพุทธเจ้า พระธรรมเจ้า พระสงฆเจ้า ได้เกิดขึ้นบริบูรณ์ในกาลแต่บัดนั้น

พระบรมศาสดามีพระพุทธประสงค์จะทรงโปรดพระปัญจวัคคีย์ให้สำเร็จพระอรหัต เพื่อเป็นกำลังในการประกาศพระศาสนาต่อไป จึงเสด็จจำพรรษา ณ ป่าอิสิปปตนมิคทายวัน ทรงสั่งสอนบรรพชิตทั้ง ๔ รูปที่เหลืออยู่นั้น ด้วยพระธรรมเทศนาต่างๆ ตามสมควรแก่อัธยาศัย เมื่อท่านวัปปะและท่านภัททิยะ ได้ธรรมจักษุ ดวงตาเห็นธรรมอย่างพระอัญญาโกณฑัญญะแล้ว ทูลขออุปสมบท พระศาสดาก็ทรงประทานอุปสมบทแก่ท่านทั้ง ๒ นั้น เหมือนอย่างประทานแก่พระอัญญาโกณฑัญญะ ภายหลังท่านมหานามะและท่านอัสสชิได้ธรรมจักษุแล้วทูลขออุปสมบท พระบรมศาสดาก็ทรงประทานเหมือนอย่างประทานแก่สาวกทั้ง ๓

ครั้นพระภิกษุปัญจวัคคีย์ ตั้งอยู่ในที่พระสาวกแล้ว มีอินทรีย์ มีศรัทธา เป็นต้นแก่กล้า สมควรสดับธรรมจำเริญวิปัสสนา เพื่อวิมุตติเบื้องสูง ครั้นถึงวันแรม ๕ ค่ำแห่งเดือนสาวนะ คือ เดือน ๙ ซึ่งเท่ากับแรม ๘ ค่ำ เดือน ๘ ไทย ด้วยสมัยนั้น นับแรมเป็นต้นเดือน นับขึ้นเป็นปลายเดือน พระศาสดาจึงได้แสดงพระธรรมสั่งสอนพระปัญจวัคคีย์ด้วย อนัตตลักขณสูตร เมื่อพระบรมศาสดาตรัสพระธรรมเทศนา แสดงอนัตตลักขณสูตรอยู่ จิตของพระภิกษุปัญจวัคคีย์ผู้พิจารณาภูมิธรรมตามกระแสเทศนานั้น พ้นแล้วจากอาสวะ ไม่ถือมั่นด้วยอุปาทาน สำเร็จเป็นพระอรหันต์ทั้งหมด

ครั้งนั้นมีพระอรหันต์เกิดขึ้นในโลก ๖ องค์ คือ พระสัมพุทธเจ้า ๑ พระอริยสาวก ๕ คือ พระอัญญาโกณฑัญญะ ๑ พระวัปปะ ๑ พระภัททิยะ ๑ พระมหานามะ ๑ พระอัสสชิ ๑ รวมเป็น ๖ ด้วยประการฉะนี้

ตอนที่ ๒๘

ยสะกุลบุตรออกบวช

ในสมัยนั้นมีมานพผู้หนึ่งชื่อว่า ยสะ เป็นบุตรเศรษฐีในเมืองพาราณสี บริบูรณ์ด้วยทรัพย์ศฤงคาร มีเรือน ๓ หลัง เป็นที่อยู่ประจำใน ๓ ฤดู อย่างผาสุก อิ่มอยู่ในกามสุขตามฆราวาสวิสัย ครั้งนั้นในฤดูฝน พรรษากาลที่พระสัมพุทธเจ้า ทรงจำพรรษาอยู่ที่ป่าอิสิปปตนมิคทายวัน ซึ่งอยู่ไม่ไกลแต่บ้านยสมานพ ราตรีวันหนึ่งยสมานพนอนหลับก่อน เหล่านางบำเรอและบริวารนอนหลับภายหลัง แสงชวาลาที่ตามไว้ยังสว่างอยู่ ยสมานพตื่นขึ้นเห็นบริวารเหล่านั้นนอนหลับอยู่ ปราศจากสติสัมปชัญญะ แสดงอาการวิกลวิการไปต่างๆ บ้างกรน คราง ละเมอเพ้อพึมพำ ไม่เป็นที่ตั้งแห่งความยินดีดังแต่ก่อน ปรากฏแก่ยสมานพเหมือนซากศพที่ถูกทอดทิ้งไว้ในป่าช้า ยสมานพเห็นแล้วเกิดความสลดใจ เบื่อหน่าย รำคาญ อยู่ในห้องไม่ติด ออกอุทานด้วยความสังเวชใจว่า “ที่นี่วุ่นวาย ไม่เป็นสุข” แล้วออกจากห้องสวมรองเท้าเดินออกจากประตูเรือน ตรงไปทางที่จะไปป่าอิสิปปตนมิคทายวัน

ในเวลานั้นจวนใกล้รุ่ง พระศาสดาเสด็จจงกรมอยู่ในที่แจ้ง ทรงได้ยินเสียงยสมานพ เดินบ่นมาด้วยความสลดใจ ใกล้ที่จงกรมเช่นนั้น จึงรับสั่งเรียกด้วยพระมหากรุณาว่า

“ยส! ที่นี่ไม่วุ่นวาย ยส! ที่นี่สงบเป็นสุข ยส! ท่านมาที่นี่เถิด”

ฝ่ายยสมานพได้ยินเสียงพระศาสดารับสั่งว่า "ที่นี่ไม่วุ่นวาย สงบ เป็นสุข” ก็ดีใจถอดรองเท้าเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคยังที่ประทับ ถวายบังคมแล้วนั่งอยู่ ด้วยความสบายใจ ปราศจากความวุ่นวาย เป็นทางให้ได้ความสงบสุข

พระศาสดาตรัสเทศนาโปรดยสมานพด้วยอนุปุพพิกถา แสดงถึงปฏิปทาเบื้องต้นที่คฤหัสถชนจะพึงสดับและปฏิบัติตามได้โดยลำดับ คือ

๑. ทาน พรรณนาความเสียสละ ให้ด้วยความยินดี เพื่อบูชาคุณของท่านผู้มีคุณ ด้วยความกตัญญู ด้วยความเคารพนับถือ เพื่อช่วยเหลือเกื้อกูลฉันญาติมิตรด้วยความไมตรี ด้วยน้ำใจอันงาม เพื่ออนุเคราะห์ผู้น้อย ผู้ตกทุกข์ได้ยากด้วยความกรุณาสงสาร

๒. ศีล พรรณนาความรักษากาย วาจาเป็นสุภาพเรียบร้อย เว้นจากการเบียดเบียนกัน เพื่อความสงบสุข ตามหลักแห่งมนุษยธรรม

๓. สวรรค์ พรรณนาถึงอานิสงส์ของผู้บำเพ็ญทาน รักษาศีล จะพึงได้พึงถึงความสุขอย่างเทพเจ้าในสรวงสวรรค์ ยิ่งกว่าความสุขของมนุษย์

๔. กามาทีนพ พรรณนาถึงโทษของกาม ของผู้บริโภคกามทั้งในมนุษย์ ทั้งในสวรรค์ เป็นช่องทางแห่งทุกข์โทษ เพราะวุ่นวาย ไม่สงบ เดือดร้อนไม่รู้จักสิ้นสุด น่าระอา น่าเบื่อหน่าย

๕. เนกขัมมานิสงส์ พรรณนาถึงอานิสงส์ของการหลีกออกจากกาม เหมือนคนออกจากเรือนไฟที่กำลังติดอยู่ ไม่เร่าร้อน สงบเย็นใจ เป็นสุข ไม่มีภัยไม่มีเวรทุกประการ

ฟอกจิตของยสมานพให้ห่างไกลจากความยินดีในกาม ได้ธรรมจักษุเหมือนผ้าที่ซักฟอกให้หมดมลทิน ควรจะรับน้ำย้อมได้แล้ว พระศาสดาจึงแสดงอริยสัจ ๔ คือ ทุกข์ ทุกขสมุทัย-เหตุให้เกิดทุกข์ ทุกขนิโรธ-ความดับทุกข์ และ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา-ได้แก่ข้อปฏิบัติเพื่อให้ถึงความดับทุกข์ โปรดยสมานพให้ได้เห็นธรรมพิเศษ ณ ที่นั่งนั้น

ฝ่ายมารดาของยสมานพทราบว่าลูกชายหาย มีความเศร้าโศก บอกแก่เศรษฐีผู้เป็นสามี ท่านเศรษฐีตกใจ ให้คนออกติดตามตลอดทางทุกสาย แม้ตนเองก็ร้อนใจ อยู่ไม่ติดออกติดตามด้วย เผอิญเดินทางผ่านมาใกล้ที่ป่าอิสิปปตนมิคทายวัน เห็นรองเท้าของลูก จำได้ ดีใจตามเข้าไปหาจนถึงที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่

พระบรมศาสดาตรัสเทศนาอนุปุพพิกถาและอริยสัจ ๔ โปรดท่านเศรษฐี ให้เศรษฐีได้ดวงตาเห็นธรรม ทูลสรรเสริญพระธรรมเทศนา แสดงตนเป็นอุบาสก ถึงพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งตลอดชีวิต ท่านเศรษฐีได้เป็นอุบาสกถึงพระรัตนตรัยคนแรก ก่อนกว่าชนทั้งปวงในพระศาสนานี้

ขณะที่พระบรมศาสดาตรัสเทศนาอนุปุพพิกถาและอริยสัจ ๔ โปรดท่านเศรษฐี ยสมานพนั่งอยู่ในที่นั้น ได้ฟังเทศนาทั้งสองเรื่องนี้ซ้ำอีกครั้งหนึ่งในที่นั่งนั้นเอง พิจารณาภูมิธรรมตามกระแสพระธรรมเทศนา จิตก็หลุดพ้นจากอาสวะ ไม่ถือมั่นด้วยอุปาทาน สำเร็จอริยคุณเบื้องสูงเป็นพระอรหันต์ ณ ที่นั้น นับว่ายสมานพเป็นพระอรหันต์องค์แรกที่อยู่ในเพศคฤหัสถ์ คือ ยังมิทันได้บวชก็บรรลุถึงความเป็นพระอรหันต์ ซึ่งเป็นคุณสูงสุดในพระศาสนานี้

ฝ่ายเศรษฐีผู้บิดาไม่ทราบว่าท่านยสะสิ้นอาสวะแล้ว จึงกล่าวแก่ท่านยสะว่า

“พ่อยสะ มารดาของเจ้าไม่เห็นเจ้า มีความเศร้าโศกพิไรรำพันยิ่งนัก เจ้าจงให้ชีวิตแก่มารดาของเจ้าเถิด”

ท่านยสะแลดูพระบรมศาสดา พระบรมศาสดาจึงตรัสบอกแก่เศรษฐีให้ทราบว่า

“บัดนี้ ยสะได้บรรลุพระอรหัต เป็นพระอรหันต์แล้วมิใช่ผู้ที่จะกลับคืนไปครองฆราวาสอีก”

ท่านเศรษฐีกราบทูลว่า “เป็นลาภอันประเสริฐของยสะแล้ว ขอให้ยสะได้รุ่งเรืองอยู่ในอนาคาริยวิสัยเถิด”

แล้วกราบทูลอาราธนพระบรมศาสดากับพระยสะ ให้ไปรับอาหารบิณฑบาตที่เรือนของตนในเช้าวันนั้น ครั้นทราบว่าพระบรมศาสดาทรงรับอาราธนาด้วยอาการดุษณีภาพแล้ว ก็ถวายบังคมลากลับไปสู่เรือน แจ้งข่าวแก่ภรรยา พร้อมกับสั่งให้จัดแจงขาทนียโภชนียาหารอันประณีต เพื่อถวายพระบรมศาสดา

เมื่อท่านเศรษฐีกลับไปแล้ว ยสมานพได้กราบทูลขออุปสมบทเป็นภิกษุ พระบรมศาสดาทรงประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทาเป็นพิเศษ ด้วยยสมานพได้บรรลุพระอรหัตเป็นพระอรหันต์แล้ว เพียงแต่ทรงรับให้เข้าอยู่ในภาวะของภิกษุ ในพระธรรมวินัยได้เท่านั้น ดังนั้นจึงตรัสพระวาจาแต่สั้นๆว่า “เธอจงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมเรากล่าวดีแล้ว ท่านจงประพฤติพรหมจรรย์เถิด” ตัดคำว่า “เพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบ” ข้างท้ายออกเสีย ด้วยพระยสะถึงที่สุดทุกข์แล้ว

ในเวลาเช้าวันนั้น พระบรมศาสดาก็มีพระยสะเป็นพระตามเสด็จ ๑ รูป เสด็จไปยังเรือนท่านเศรษฐีตามคำอาราธนา ประทับนั่งยังอาสนะที่ตกแต่งไว้ถวายเป็นอันดี มารดาและภรรยาเก่าของพระยสะเข้าเฝ้า พระบรมศาสดาทรงแสดงอนุปุพพิกถาและอริยสัจ ๔ ให้สตรีทั้งสองนั้นได้ธรรมจักษุ เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ปฏิญาณตนเป็นอุบาสิกาขอถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต มารดาและภรรยาเก่าของพระยสะได้เป็นอุบาสิกาคู่แรกในพระพุทธศาสนาก่อนกว่าอุบาสิกาทั้งหลายในโลกนี้

ครั้นได้เวลาภัตกิจ มารดาและภรรยาเก่าของพระยสะ ได้จัดการอังคาสด้วยขัชชโภชนาหารอันประณีตด้วยมือตนเอง เมื่อเสร็จภุตกิจแล้ว พระบรมศาสดาตรัสอนุโมทนาให้อุบาสกอุบาสิกาทั้งสามนั้น อาจหาญ ร่าเริงในธรรมเป็นอันดีแล้ว เสด็จกลับประทับยังป่าอิสิปปตนมิคทายวัน

ครั้งนั้น มีเศรษฐีบุตรชาวเมืองพาราณสี ๔ คน คือ วิมละ ๑ สุพาหุ ๑ ปุณณชิ ๑ ควัมปติ ๑ ซึ่งเป็นสหายที่รักใคร่ของพระยสะ ครั้นได้ทราบข่าวว่าพระยสะออกบวช เกิดความสนใจใคร่จะรู้ธรรมที่พระยสะมุ่งหมายประพฤติพรต ดังนั้นสหายทั้ง ๔ คน จึงพร้อมกันไปพบพระยสะถึงที่อยู่ พระยสะได้พาสหายทั้ง๔ คนนั้นไปเฝ้าพระบรมศาสดาทูลให้ทรงสั่งสอน พระองค์ได้ทรงแสดงธรรมโปรดเศรษฐีบุตรทั้ง ๔ นั้น ได้ดวงตาเห็นธรรมแล้ว ประทานอุปสมบทให้เป็นภิกษุ ทั้งทรงสั่งสอนให้บรรลุพระอรหัตผลในกาลต่อมา ครั้งนั้นมีพระอรหันต์ในโลกเป็น ๑๑ องค์ด้วยกันทั้งพระบรมศาสดา

ต่อมามีสหายของพระยสะซึ่งเป็นชาวชนบท ๕๐ คน ได้ทราบข่าวว่าพระยสะออกบวช มีความคิดเช่นเดียวกับสหายของพระยสะทั้ง ๔ นั้น จึงไปหาพระยสะที่ป่าอิสิปปตนมิคทายวัน ได้สดับธรรมมีความเลื่อมใส ได้อุปสมบทและได้บรรลุพระอรหัตผลด้วยกันทั้งหมดโดยนัยก่อน จึงเกิดมีพระอรหันต์รวมทั้งพระบรมศาสดาด้วย ๖๑ องค์

ตอนที่ ๒๙

ส่งพระสาวกประกาศพระศาสนา

เมื่อพระสาวกมีมากพอจะเป็นกำลังช่วยพระองค์ออกประกาศพระศาสนา เพื่อเป็นประโยชน์สุขแก่คนเป็นอันมากได้แล้ว ครั้นออกพรรษาแล้ว จึงส่งพระสาวกทั้ง ๖๐ นั้น ออกไปประกาศพระศาสนาด้วยพระดำรัสว่า

ภิกษุทั้งหลาย ! เราได้พ้นแล้วจากบ่วงเครื่องรึงรัดทั้งปวง ทั้งที่เป็นของทิพย์ ทั้งที่เป็นของมนุษย์ แม้ท่านทั้งหลายก็เช่นกัน ท่านทั้งหลายจงเที่ยวไปในชนบท เพื่อประโยชน์และความสุขแก่ชนเป็นอันมาก ต่างรูปต่างไปแต่ละทิศทาง อย่าไปรวมกัน ๒ รูปในทางเดียวกัน จงแสดงธรรมประกาศพรหมจรรย์อันบริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง สัตว์ทั้งหลายที่มีกิเลสบังปัญญาดุจธุลีในจักษุน้อยมีอยู่ เพราะโทษที่ไม่ได้ฟังธรรมย่อมเสื่อมจากคุณที่จะพึงได้พึงถึง แล้วผู้ตรัสรู้ธรรมจักมีขึ้นตามโดยลำดับ แม้เราก็จักไปยังอุรุเวลาเสนานิคมเพื่อแสดงธรรมเช่นกัน

ครั้นพระสาวกทั้ง ๖๐ องค์ ถวายบังคมลาพระบรมศาสดาออกจากป่าอิสิปปตนมิคทายวัน จาริกไปประกาศพระศาสนายังชนบทน้อยใหญ่ตามพระพุทธประสงค์ ส่วนพระองค์ก็เสด็จดำเนินไปยังตำบลอุรุเวลา ครั้นถึงไร่ฝ้ายในระหว่างทาง เสด็จหยุดพักที่ร่มไม้ต้นหนึ่ง

ขณะนั้นมานพ ๓๐ คน ซึ่งเป็นสหายที่รักใคร่กันเรียกว่า “ภัททวัคคีย์” อยู่ในราชตระกูลแห่งราชวงศ์โกศล ต่างคนต่างพาภรรยาของตนๆมาหาความสำราญ บังเอิญสหายคนหนึ่งไม่มีภรรยา สหายเหล่านั้นจึงไปหาหญิงโสเภณีคนหนึ่งมาให้เป็นเพื่อนร่วมความสำราญ ครั้นเผลอไปไม่ระแวดระวัง หญิงโสเภณีคนนั้นได้ลักเอาเครื่องแต่งกายและสิ่งของอันมีค่าหนีไป มานพทั้ง ๓๐ คนนั้นจึงออกเที่ยวติดตามมาพบพระบรมศาสดาที่ไร่ฝ้ายนั้น มานพเหล่านั้นจึงเข้าไปเฝ้าพระบรมศาสดา ทูลถามว่า พระอง๕ได้ทรงเห็นหญิงผู้นั้นมาทางนี้หรือไม่ พร้อมกับได้ทูลถึงพฤติการณ์ของหญิงนั้นให้ทราบด้วย

พระบรมศาสดาได้ทรงตรัสว่า “ภัททวัคคีย์ ท่านทั้งหลายจะแสวงหาหญิงผู้นั้นดี หรือแสวงหาตนของตนดี”

ครั้นสหายเหล่านั้นกราบทูลว่า แสวงหาตนดีกว่า จึงรับสั่งว่าถ้าเช่นนั้นจงตั้งใจฟัง เราจะแสดงธรรมแก่ท่านทั้งหลาย แล้วทรงแสดงอนุปุพพิกถา และอริยสัจ ๔ ให้ภัททวัคคีย์มานพทั้ง ๓๐ นั้นได้ดวงตาเห็นธรรม ประทานอุปสมบทให้เป็นภิกษุ แล้วทรงสั่งสอนให้บรรลุอริยผลเบื้องสูง ทรงส่งไปประกาศพระศาสนาเช่นเดียวกับพระสาวก ๖๐ องค์ก่อนนั้น พระอริยสงฆ์คณะนี้ได้กราบทูลลาเดินทางไปยังเมืองปาวา ข้างใต้แห่งแว่นแคว้นโกศลชนบท