#echo banner="" คุณลักษณะพิเศษของอาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ

คุณลักษณะพิเศษของอาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ

ปาฐกถาของศาสตราจารย์เกียรติคุณ แสง จันทร์งาม

ในการบำเพ็ญกุศลศพอาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ

วันพฤหัสบดีที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๔๓

ณ ศาลากวีนิรมิต วัดเทพศิรินทราวาส

นิตยสารธรรมจักษุ ปีที่ ๘๕ ฉบับที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๔๓

ขอกราบนมัสการพระเดชพระคุณ ท่านเจ้าคุณพระธรรมปัญญาจารย์

พระเถรานุเถระ ท่านเจ้าภาพ ญาติมิตร ศิษย์ของท่านอาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ ทุกท่าน

เมื่อไม่กี่วันมานี้ กระผมได้รับโทรศัพท์แจ้งให้ทราบว่าวันที่ ๒๕ นี้ จะมีการทำบุญสวดพระอภิธรรม อุทิศส่วนกุศลให้อาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ ในนามของศิษย์เก่าหลายรุ่น กระผมก็ยินดีรับที่จะมาบรรยายด้วยความเต็มใจ ทั้ง ๆ ที่อยู่ไกลและมาลำบาก แต่ด้วยความเคารพรักในท่านอาจารย์ และเพื่อเป็นการน้อมระลึกถึงท่านอาจารย์สุชีพปุญญานุภาพ

กระผมเองออกจะโชคดีที่ได้มีโอกาสรู้จักกับท่านอาจารย์สุชีพ อย่างค่อนข้างใกล้ชิดเพราะว่ากระผมเป็นนักศึกษารุ่นแรกของสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย ซึ่งท่านอาจารย์สุชีพเป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งขึ้น เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๙ หลังสงครามใหม่ ๆ ตอนนั้นอาคารเรียนยังไม่มีเป็นของตนนอง ต้องไปอาศัยเรียนที่ตึกหอสมุดเก่าของมูลนิธิ ที่หน้าวัดบวรนิเวศ สมัยนั้นยังไม่มีอาจารย์ประจำอย่างสมัยนี้ อาจารย์ที่สอนเป็นอาจารย์พิเศษทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น ท่านอาจารย์สุชีพจึงทำหน้าที่เป็นอาจารย์ประจำ และถ้าอาจารย์พิเศษไม่มา ท่านก็เข้าสอนแทนแทบจะทุกวิชา เพราะฉะนั้นพวกเราในรุ่นที่ ๒ และ ๓ ค่อนข้างจะใกล้ชิดกับท่าน มีโอกาสรู้จักกับท่านเป็นอย่างดี และยิ่งกว่านั้น กระผมเองยังมีโอกาสได้เป็นปัจฉาสมณะ คือเป็นพระภิกษุผู้ติดตามพระอาจารย์ ไปประชุมองค์การ พ.ส.ล. ครั้งแรกที่ประเทศศรีลังกา พ.ศ. ๒๔๙๓ หลังจากประชุมที่ศรีลังกาแล้ว ยังได้ไปนมัสการสังเวชนียสถานในอินเดียด้วยกันอีกเป็นเวลาประมาณ ๒ อาทิตย์ เรียกว่าได้ร่วมทุกข์ร่วมสุขกับท่านมาอย่างใกล้ชิด เพราะฉะนั้นเรื่องที่กระผมจะพูดในวันนี้ จึงเป็นเรื่องที่จะเล่าจากประสบการณ์ที่ผ่านมา แต่เนื่องจากเวลาก็ผ่านไปเป็นเวลานานหลายสิบปีแล้ว และความจำของคนเราเป็นอนิจจังไม่เที่ยง เพราะฉะนั้นถ้าหากขาดตกบกพร่องไปบ้าง ก็ขออภัยต่อท่านผู้ฟังนะครับ

ท่านอาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ เท่าที่ผมได้ศึกษาสังเกตท่านมาเป็นเวลานาน ได้พบคุณสมบัติพิเศษของท่านอยู่หลายอย่างหลายประการด้วยกัน ในวันนี้จะนำมาบรรยายแต่เพียงบางอย่าง เท่าที่เวลาจะกำหนดให้

ประการแรก ท่านอาจารย์เป็นบุคคลที่เป็นนักปรัชญาสมชื่อ ท่านที่ผ่านวิชาปรัชญามาแล้ว ก็คงจำได้ว่า คำว่า “ปรัชญา” ภาษาอังกฤษคือ “philosophy” ซึ่งมาจากภาษากรีก “ฟิลอสโซเฟีย” “ฟิลอส”  แปลว่า รัก “โซเฟีย” แปลว่า ความรู้ เพราะฉะนั้น “นักปรัชญา” แปลว่า ผู้รักในความรู้ ผู้ใฝ่รู้ ผู้แสวงหาความรู้ตลอดเวลา ท่านอาจารย์สุชีพเป็นนักปรัชญา เป็นผู้รักในความรู้อย่างแท้จริง ให้แสวงหาความรู้จนกระทั่งได้บรรลุถึงชั้นภูมิสูงสุดทั้งในทางโลกทั้งในทางธรรม

ในทางธรรมนั้น ท่านอาจารย์สอบได้เปรียญธรรม ๙ ประโยค เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๒ ได้เป็นเปรียญธรรม ๗ ประโยค ตั้งแต่เป็นสามเณร เพราะฉะนั้นเราไม่ต้องพูดถึงว่าความรู้ความสามารถของท่านในทางภาษาบาลีแตกฉานเพียงใด แทบจะกล่าวได้ว่าพระไตรปิฎก ท่านอ่านเข้าใจแจ่มแจ้งถี่ถ้วนทั้ง ๓ ปิฎก ส่วนความรู้ทางโลกของท่านนั้น สมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ และในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ ยังไม่มีหลักสูตรการเรียน และยิ่งกว่านั้นยังห้ามไม่ให้พระเรียนวิชาทางโลก เช่นภาษาอังกฤษ เป็นวิชาที่เรียนไม่ได้ ไม่มีหลักสูตรให้พระเรียน ในวัดก็ไม่มี เพราะถือว่าเป็นเดรัจฉานวิชา เป็นวิชาชั้นต่ำ ไม่เหมาะสมสำหรับพระเณร เพราะฉะนั้นพระสงฆ์สามเณรที่อยากเรียนวิชาความรู้ทางโลกต้องแอบเรียนเรียนแบบหลบ ๆ ซ่อน ๆ

ท่านอาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพท่านเป็นผู้มีวิสัยทัศน์กว้างไกล ท่านเห็นว่า พระจะมีความรู้แต่ในทางธรรมอย่างเดียวไม่พอ จะต้องมีความรู้ในทางโลกด้วย ท่านจึงขวนขวายแสวงหาความรู้ในทางโลกด้วยตนเอง ภาษาอังกฤษได้ทราบว่า ท่านเรียนด้วยตนเอง จนสามารถมีความรู้แตกฉานอ่าน ฟังเขียน พูดภาษาอังกฤษได้เป็นอย่างดี ซึ่งหาได้ยากมากคนที่เรียนรู้ด้วยตนเองแล้วใช้ได้ทุกอย่าง

กระผมได้ฟังท่านพูดภาษาอังกฤษเป็นครั้งแรก เมื่อเข้าเรียนมหามกุฎราชวิทยาลัย ปีที่ ๑ พ.ศ. ๒๔๘๙ สมัยนั้นนายกพุทธสมาคมแห่งกรุงลอนดอน นายคริสมาส ฮัมฟรีส์ มาเยี่ยมสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย กระผมเห็นท่านอาจารย์สุชีพ พูดภาษาอังกฤษ เป็นครั้งแรกในชีวิตที่เห็นคนไทยพูดภาษาอังกฤษ มันเป็นสิ่งที่ประหลาดมหัศจรรย์ เพราะว่าเสียงที่พูดออกมามันมีแต่เสียงฟุต ฟิต ฟอ ไฟ ฟู่ ๆ ฟี่ ๆ มันคล้ายกับเสียงงูเห่า เราเรียกกันเล่น ๆ ว่า “ภาษางูเห่า” รู้สึกอัศจรรย์ใจมากกว่าพูดได้อย่างไร ? ตั้งใจลงไปตั้งแต่ขณะนั้นว่าเราจะต้องพยายามเรียนรู้ภาษาอังกฤษให้ได้ พูดให้ได้อย่างท่าน ต้องนับว่าท่านเป็นแบบอย่างในทางปลุกให้เราตื่นในเรื่องการศึกษาหาความรู้

ในทางภาษาสันสกฤตนั้น ทราบว่าท่านเรียนจากท่านสวามีสัตยานันทบุรี สมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ ท่านสวามีสัตยานันทบุรี มีชื่อเสียงมาก เป็นนักปราชญ์ชาวอินเดียที่มากระตุ้นให้คนไทยตื่นตัวทางวิชาการทางปรัชญา ท่านอาจารย์สุชีพ ได้ไปเรียนภาษาสันสกฤตกับท่านสวามีสัตยานันทบุรี แล้วก็มีความรู้แตกฉานมากพอ ๆ กับภาษาบาลี ก็นับว่าเป็นนักเรียนนักรู้ใฝ่แสวงหาความรู้ ซึ่งควรจะเป็นแบบอย่างของพวกเราเป็นอย่างดี นอกจากนี้ท่านอาจารย์ยังมีความรู้ทางอื่น ๆ อีกมากมายซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการศึกษาเล่าเรียนด้วยตนเอง

คุณสมบัติประการที่ ๒ ของท่านอาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ คือความเป็นครูที่สมบูรณ์แบบ ท่านสอนพวกเราทุกสิ่งทุกอย่าง ฝึกฝนทุกสิ่งทุกอย่าง ก็อย่างที่กระผมกราบเรียนเมื่อตอนต้นว่า ท่านเป็นครูประจำคนเดียวในยุคนั้น ถ้าครูอาจารย์อื่น ๆ ไม่มาต้องเข้าสอนแทน บางทีท่านต้องฝึกฝนพวกเราโดยวิธีการต่าง ๆ เพื่อให้เรามีความรู้ความสามารถ ที่ท่านฝึกฝนเป็นประจำก็คือ เวลาครูไม่มา ก็ให้พวกเรานักศึกษาฝึกพูด ฝึกอธิบายธรรมะฝึกตอบโต้คำถาม ท่านบอกว่าเราจะได้สามารถอธิบายธรรมะให้คนไทยและคนต่างประเทศฟังได้ในอนาคต พวกเราก็ได้ฝึกฝน บางทีก็มีการอภิปราย มีการโต้วาทีกัน ความรู้ความสามารถที่พวกเรามีตั้งแต่สมัยนั้นมาจนถึงบัดนี้ ก็เพราะความฝึกฝนเอาใจใส่ของท่านอาจารย์

นอกจากนั้นท่านอาจารย์ยังเน้นเป็นพิเศษในวิชาพระพุทธศาสนา สอนเสมอว่าวิชาทั้งหลายทั้งปวงเป็นเพียงส่วนประกอบนำมาเพื่อการช่วยอธิบายธรรมะให้แจ่มแจ้งเท่านั้น แต่วิชาที่เป็นหลักคือพระพุทธศาสนา แต่ว่าเป็นที่น่าเสียดาย พวกเราสมัยนั้นอาจจะเป็นเพราะยังหนุ่มและมองไกลไปนอกตัว จึงมองข้ามความสำคัญของพระพุทธศาสนา

อย่างกระผมเองก็ไม่ค่อยเห็นความสำคัญของวิชาพระพุทธศาสนา กลับไปให้ความสนใจในวิชาภาษาอังกฤษ แต่ว่าต่อมาในตอนหลัง เมื่อเราได้มาเผชิญโลก ได้เป็นครูบาอาจารย์สั่งสอนคนอื่น เราถึงได้เห็นว่าคำสอนของท่านเป็นความจริงทุกประการ เวลาเราอยู่ในมหาวิทยาลัยทางโลกนั้น เขาไม่ได้ถามเราหรอกว่าฟิสิกส์เป็นอย่างไร เศรษฐศาสตร์เป็นอย่างไร ธรณีวิทยาเป็นอย่างไร เพราะเขารู้ดีกว่าเรา แต่เขามาถามวิชาทางพระพุทธศาสนา มาปรึกษาปัญหาชีวิต เราก็ต้องนำธรรมะทางพระพุทธศาสนามาช่วยแก้ปัญหาชีวิตให้เขา เพราะฉะนั้น จึงนึกถึงอาจารย์ทุกครั้งที่ประสบปัญหาในการอธิบายธรรมะ และถ้ามีเวลามากรุงเทพฯ มาพบท่าน ก็ต้องไปกราบเรียนถามท่าน ท่านก็ให้คำตอบที่แจ่มแจ้งทุกครั้ง

เพราะฉะนั้นท่านอาจารย์จึงเป็นครูที่เอาใจใส่ สั่งสอนฝึกฝนพวกเราอย่างอุทิศทุ่มเทไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อยสำหรับกระผมนั้น ได้ความรู้จากท่านอาจารย์มากมายครับ แม้แต่เรื่องเกี่ยวกับกิริยามารยาทเล็กน้อย ท่านก็สอนหมด

คราวที่เราไปประเทศอินเดีย คืนวันหนึ่งหลังจากนมัสการพุทธคยา สถานที่ที่พระพุทธองค์ตรัสรู้แล้ว พวกเราจะขึ้นรถไฟไปยังเมืองพาราณสี เพื่อไปนมัสการสถานที่ที่พระพุทธองค์ทรงแสดงปฐมธรรมเทศนา ตอนเย็นมืดฝนตก รถไฟเข้ามาสถานี ท่านทั้งหลายที่เคยผ่านอินเดีย ก็คงนึกถึงภาพว่า ในอินเดียนั้นการขึ้นรถลงรถ ไม่ว่าจะเป็นรถไฟ รถประจำทางใด ๆ มันเหมือนจลาจล คือ คนจะลงก็ต้องแย่งกันลง คนจะขึ้นก็ต้องแย่งกันขึ้น ส่งเสียงดังสนั่นหวั่นไหวอุตลุด แล้วลองคิดดูครับ พวกเราเป็นพระแล้วต้องแย่งขึ้นรถไฟกับชาวอินเดียนับร้อย ประตูแคบ ๆ ประตูเดียว จะฉุกละหุกแค่ไหน แต่ท่านอาจารย์ ไม่ย่อท้อ คนดันขึ้นดันลงนับร้อย ท่านจูงแขนกระผมดึงแขนกระผมแทรกขึ้นไปบนรถจนได้ กระผมแทบจะร้องไห้ ขอเรียนตามตรงไม่เคยพบสภาพอย่างนั้น

พอขึ้นไปในรถแล้วไม่มีที่ มีแต่ที่ยืนอย่างเดียว แล้วที่ยืนอื่นก็ไม่มี บังเอิญไปได้ที่ยืนหน้าประตูส้วมพอดี เราก็ยืนเฝ้าประตูส้วมอยู่ตลอดคืน จนกระทั่งไปถึงกรุงพาราณสีในตอนเช้า ไม่เป็นอันหลับอันนอน ตอนขึ้นไปทีแรกกระผมเห็นสภาพรถแล้ว กระผมบอกท่านอาจารย์ว่า

“อาจารย์ครับ เราลงไปก่อนไม่ดีหรือรอคันหลังอาจจะคนน้อยกว่านี้ อาจจะพอมีที่นั่งบ้าง”

ท่านอาจารย์มองดูหน้ากระผม แล้วก็บอกว่า

“แสงเอ๋ย สมัยพุทธกาล พระพุทธองค์ของเรานั้นเสด็จจากเมืองนี้ไปยังเมืองพาราณสีเป็นระยะทางเกือบ ๓๐๐ กิโลเมตร ด้วยพระบาทไม่มีรถไฟ ไม่มีรถยนต์ ไม่มีเรือ แต่เรานี่ยังดีกว่าพระองค์ท่านตั้งหลายร้อยเท่า เพราะเรามีรถไฟ เพราะฉะนั้นลำบากนิดหน่อย ทนเอาหน่อย”

กระผมแทบจะกราบแทบเท้าของท่านอาจารย์ เป็นบทเรียนอันมีค่าที่สุด ที่ท่านสอนให้เรามีความอดทนต่อสู้กับอุปสรรคทั้งหลายทั้งปวง ก็เป็นอันว่าคืนนั้นทั้งคืนไม่ต้องนอนกัน เพราะเราอยู่หน้าประตูส้วม พอทำท่าจะหลับสักประเดี๋ยว มาแล้วครับ โครม ๆ ข้ามหัวข้ามหางคนมา เราก็ต้องลุกขึ้นให้ทาง ก็นั่งดมกลิ่นไม่สะอาดไปตลอดคืน จนกระทั่งไปถึงพาราณสี

อันนี้เป็นบทเรียนและแสดงให้เห็นคุณสมบัติอันประเสริฐของท่านอาจารย์ที่มีความอดทนทรหด เฉพาะตัวท่านอาจารย์เองถ้าว่าไปแล้ว ก็เป็นผู้ที่สุขุมาลชาติมาก แต่ท่านยังมีความเข้มแข็งอดทนยิ่งกว่ากระผมอีก อันนี้ก็เป็นบทเรียนหนึ่งในหลาย ๆ อย่างที่ท่านสั่งสอนผมมา

อีกประการหนึ่งที่อยากจะพูดถึงก็คือ งานของท่านอาจารย์ ท่านอาจารย์เป็นนักเผยแพร่ธรรมะแนวใหม่ แทบจะกล่าวได้ว่าเป็นผู้นำในยุคนั้น คือการที่พระยืนแสดงปาฐกถาธรรมต่อหน้าสาธารณชน สมัยก่อนนั้นไม่เคยมีท่านอาจารย์เป็นพระแทบจะเป็นรูปแรก ที่แสดงธรรมะโดยวิธีแสดงปาฐกถาธรรม แล้วก็แสดงด้วยภาษาที่เป็นภาษาง่าย ๆ สละสลวยฟังง่าย เข้าใจง่าย ท่านนำธรรมะที่ลึกซึ้งยุ่งยากมาอธิบายเป็นเรื่องธรรมดา ท่านอาจารย์เป็นนักปราชญ์ทางพุทธ เน้นตลอดเวลาว่า ธรรมะของพระพุทธเจ้านั้นเป็นธรรมชาติ มีอยู่ในตัวของเราแล้วทุกสิ่งทุกอย่าง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ไม่ได้อยู่ที่ไหน อยู่ที่ตัวเราทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นเวลาอธิบายธรรมะ ต้องน้อมเข้ามาสู่ตน “โอปนยิโก” ชี้ให้เห็นว่าเป็นธรรมชาติ เป็นของธรรมดาที่ทุกคนสามารถเข้าใจได้ สอนธรรมะให้เป็นของ “เป็น” ให้เป็นสิ่งมีชีวิตจิตใจเหมือนตัวเรา อย่าให้เป็นของ “ตาย” ที่อยู่ในหนังสือเท่านั้น ก็เป็นแนวทางที่ทำให้ศิษย์ทั้งหลายรวมทั้งผมด้วย ได้พยายามตีความธรรมะในแนวใหม่ ในแนวที่จะเป็นประโยชน์ในชีวิตประจำวันสืบมา

ในกรุงเทพฯ สมัยนั้น ผมคิดว่าท่านเป็น “นักปาฐกถาธรรมที่เด่นที่สุด” ได้ยินชื่อว่า “สุชีโวภิกขุ” ไม่ว่าท่านจะพูดที่ไหนคนก็หลั่งไหลไปฟัง ติดตามฟัง ติดใจในท่วงทำนองการพูดที่งดงามเรียบร้อย ติดใจในเนื้อหาธรรมะทีjลึกซึ้ง แต่ว่าฟังง่าย ตลอดจนติดใจในรูปสมบัติของท่านด้วย ส่วนทางภาคใต้นั้น มีท่านพุทธทาส เน้นธรรมะชั้นสูง เน้นนิพพาน แต่ก็ดีในแง่ที่ว่าท่านก็ดึงมาให้เป็นประสบการณ์ของชีวิต สอนธรรมะ ชั้นสูงแบบเป็นของ “เป็น” ไม่ใช่ของ “ตาย” ทางภาคเหนือก็มี ท่านปัญญานันทภิกขุ พูดลื่นไหล ธรรมะง่าย ๆ ฟังเพลิน ฝ่ายฆราวาสนั้นมี พันเอกปิ่น มุทุกันต์ พูดธรรมะง่ายสนุกสนานเพลิดเพลินเกี่ยวกับชีวิต ไปพูดที่ไหนก็มีคนตามฟัง สมัยนั้นแทบจะกล่าวได้ว่าเป็น ”ยุคทอง” ของการเผยแผ่ธรรมะในแนวใหม่

ยิ่งกว่านั้น ท่านอาจารย์ยังมีความคิดริเริ่มที่เป็นผู้นำอีก นั่นก็คือการเผยแผ่ธรรมะด้วยธรรมนิยาย หรือนิยายอิงหลักธรรม ท่านได้เขียนนิยายอิงหลักธรรมขึ้น เรื่องแรกคือเรื่อง “ใต้ร่มกาสาวพัสตร์” ตอนนั้นกระผมเองยังเป็นสามเณรอยู่ในต่างจังหวัด อายุสิบห้าสิบหก ได้อ่าน “ใต้ร่มกาสาวพัสตร์” ทีละตอน ๆ ที่ลงในธรรมจักษุ พออ่านจบตอนหนึ่ง ก็กระหายอยากอ่านตอนที่สอง ตั้งตาคอยเมื่อไหร่หนอธรรมจักษุจะมา และสมัยนั้นเป็นสมัยสงคราม ธรรมจักษุก็ออกไม่ค่อยตรงเวลา กระดาษก็สีแดง กระดาษสีมอ ๆ ไม่ค่อยสดใส เพราะกระดาษหายากเต็มที กระผมคิดว่า “ใต้ร่มกาสาวพัสตร์” เป็นงานกวีนิพนธ์ชิ้นแรกของท่านอาจารย์ และอยากจะพูดว่าเป็นชิ้นสุดท้ายด้วย เพราะว่าบรรดาความดีงาม ความสูงส่ง ความสามารถในทางวรรณกรรมวรรณคดีนั้น ท่านได้รวมลงในหนังสือเล่มนี้ แทบทุกประโยคทุกข้อความ มีความงามของภาษา กระผมยังจำได้ว่า “ดูก่อนภราดา...” ก้องอยู่ในโสตประสาทตลอดเวลา เป็นภาษาที่งดงามเหลือเกิน

กระผมยังคิดอยู่ว่า สมัยนั้นเป็นสามเณรอยู่ ซักวันหนึ่งจะต้องพยายามเขียนธรรมนิยายเลียนแบบท่านอาจารย์สุชีพให้ได้ ต่อมาก็ได้จังหวะ คือเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๓ ได้ติดตามท่านไปประเทศศรีลังกา เวลาว่าง ๆ ก็คิดพล็อตเรื่องที่จะเขียน พอไปอินเดียก็เห็นสภาพภูมิประเทศที่อินเดีย ก็นึกเอาฉากต่าง ๆ ในประเทศอินเดียนั่นแหละ แล้วตอนอยู่ที่ประเทศศรีลังกานั้น สุภาพสตรีชาวศรีลังกา นิยมตั้งชื่อว่า “ลีลาวตี” เป็นชื่อที่แพร่หลายมากในศรีลังกา ฟังดูรู้สึกว่ามันเพราะดี ถ้าเราดัดแปลงเป็นไทยว่า “ลีลาวดี” ก็คงจะเข้าที ในที่สุดตอนกลับจากศรีลังกา ก็มาเริ่มเขียนเรื่อง“ลีลาวดี” ลงพิมพ์ในหนังสือวารสาร “ศึกษากร” ทยอยลงเป็นตอน ๆ เมื่อจบแล้วก็รวมเล่มให้สำนักพิมพ์อุดมศึกษาพิมพ์ ปรากฏว่ามีคนนิยมชมชอบ พิมพ์ก็คงจะหลายสิบครั้ง เวลานี้ได้นำมามอบให้มหามกุฎราชวิทยาลัยพิมพ์ครบทั้ง ๓ เล่มเป็นชุด ก็ได้ทราบว่าเป็นที่นิยมมากพอสมควร

ที่ได้นำมาเล่านี้ ก็เพียงเพื่อแสดงให้ท่านทั้งหลายเห็นว่า ผลงานที่ท่านอาจารย์เขียนไว้นั้นเป็นแรงกระตุ้น เป็นแรงจูงใจ ให้ศิษย์ทั้งหลายได้พยายามเอาเป็นแบบอย่างกระผมก็ได้พยายาม แม้จะไม่ประสบความสำเร็จงดงามเหมือนท่าน แต่อย่างน้อยก็ถือได้ว่า ดำเนินรอยตามครูบาอาจารย์ อีกท่านหนึ่งก็คืออาจารย์วศิน ซึ่งเขียนทีหลังกระผม แต่ท่านเขียนเก่งมาก กระผมคิดว่าคงหลายสิบเรื่องแล้วสำหรับธรรมนิยาย และหนังสือตำรับตำราอีกหลายสิบเรื่อง อาจเป็นร้อยเรื่องก็ได้ ท่านผู้นี้ก็เป็นศิษย์ที่ดำเนินรอยตามอาจารย์ในแง่ของธรรมนิยายเหมือนกัน แต่หลังจากนั้นมายังไม่ปรากฏ ศิษย์รุ่นหลัง ๆ ยังไม่มีใครผลิตผลงานที่เป็นธรรมนิยายที่มีชื่อขึ้นมา หรือจะมีแล้วกระผมยังไม่ได้อ่านก็ไม่ทราบ ถ้ามีก็ขออ่านด้วยก็แล้วกัน แต่ถ้าไม่มี ก็ขอฝากไว้ให้คิดว่าคงถึงเวลาแล้วที่จะดำเนินรอยตามบูรพาจารย์ผลิตหนังสือธรรมในรูปของธรรมนิยายขึ้นมาก ๆ เพราะคนนิยมอ่าน และเป็นการสอนธรรมะอย่างดีที่สุด

ในด้านตำรับตำราและหนังสือชุดทั่วไปนั้น กระผมคิดว่าท่านอาจารย์ได้เขียนไว้มากมาย ไม่น้อยกว่าท่านผู้อื่นและตำรับตำราของอาจารย์นั้นอยู่ในขั้นมาตรฐาน เชื่อถือได้ในทางวิชาการ มีหลักการอ้างอิงอย่างถูกต้อง หนังสือที่กระผมยกย่องที่สุด กระผมคิดว่า เป็นหนังสือ “คุณลักษณะพิเศษของพระพุทธศาสนา” เป็นหนังสือที่ท่านอาจารย์ให้ภาพรวมของพระพุทธศาสนาไว้ คล้ายกับเราไปยืนดูตัวช้างทั้งตัว เห็นหมดทุกส่วนสัด ทำให้เราเห็นภาพรวมของพระพุทธศาสนาชัดเจนดี เป็นการมองจากมุมมองของคนสมัยใหม่ ซึ่งเรื่องทำนองนี้ ผู้ที่มีความรู้เจนจัดครบถ้วนในพระพุทธศาสนาเท่านั้น จึงจะสามารถทำได้ เพราะฉะนั้นถ้าหากท่านผู้ใดยังไม่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้ กระผมอยากขอกราบเรียนให้ไปลองอ่าน ท่านจะมองเห็นภาพพระพุทธศาสนาได้อย่างชัดเจนในภาพรวม

ส่วนหนังสือตำราที่กระผมอยากจะขอเรียนว่าเป็นงานแห่งชีวิตของท่านอาจารย์ก็คือ “พระไตรปิฎกฉบับสำหรับประชาชน” คือในวงการพระพุทธศาสนาของเรามันมีปัญหามานานแล้วเกี่ยวกับคัมภีร์พระไตรปิฎก คือคนไทยเราเมื่อไปเห็นคัมภีร์ของศาสนาอื่น ๆ เช่น คัมภีร์ไบเบิล คัมภีร์อัลกุรอ่าน ซึ่งมีเล่มเดียว จะเดินทางไปไหนก็ถือติดไม้ติดมือไปอ่านได้สะดวกสบาย เมื่อหันมามองคัมภีร์พระไตรปิฎกทางพระพุทธศาสนา มีถึง๔๕ เล่ม แต่ละเล่มหนา ๒ ถึง ๓ นิ้ว ตู้หนึ่งทั้งตู้เลย แล้วเราจะเอาพระไตรปิฎกทั้ง ๔๕ เล่มติดตัวเดินทางไปด้วย ไม่มีทางเป็นไปได้ อันนี้เป็นปัญหา ท่านอาจารย์สุชีพ ท่านมีวิสัยทัศน์กว้างไกล ท่านจึงพยายามย่อพระไตรปิฎกทั้ง ๓ ปิฎก ลงเป็นพระไตรปิฎกฉบับสำหรับประชาชนสมัยแรกขนาดที่ย่อแล้วก็ยังได้ตั้ง ๕ เล่ม ก็ไม่สามารถนำไปไหนมาไหนได้สะดวกเหมือนกัน

ต่อมาภายหลังท่านพยายามอีกครั้ง คราวนี้เหลือเพียงเล่มเดียวแต่ว่าก็ยัง ๘๐๐ หน้าอยู่ดีและก็ตัวเล็กจิ๋ว ถ้าผู้สูงอายุตาไม่ค่อยดีก็อ่านลำบากเหมือนกัน ท่านบอกว่าทำได้เพียงแค่นี้ แต่ถึงกระนั้นท่านก็บอกว่าต้องตัดไปเป็นอันมากที่ซ้ำกัน เช่น สังยุตตนิกาย มีถึง ๕ เล่มแต่เวลาท่านย่อแล้วเหลือเพียง ๑๙ หน้าเท่านั้น เมื่อก่อนท่านถึงแก่มรณกรรมไม่นาน กระผมมาพบท่านที่มหามกุฏฯ มาถามท่าน... “ท่านอาจารย์ครับ กระผมเสียดาย” ท่านถาม “เสียดายอะไร ?”..... “เสียดายสังยุตตนิกาย ๕ เล่ม ซึ่งมีสิ่งที่ดีทั้งนั้น แต่ท่านอาจารย์ย่อเหลือเพียง ๑๙ หน้า ทำไมถึงทำอย่างนั้นครับอาจารย์ครับ ? ” ท่านบอกว่า สังยุตตนิกายส่วนใหญ่ เนื้อหาไปตรงกับที่มีอยู่แล้วในนิกายอื่น ๆ เพราะฉะนั้นจึงย่อลงให้เหลือน้อยที่สุดและอีกประการหนึ่ง ถ้าคงไว้ให้มากหนังสือจะเล่มใหญ่เกินไป ท่านว่าอย่างนั้น ก็เลยเป็นอันว่า ส่วนทั้งหลายนั้นถูกย่อลง เหลือเพียงไม่มาก

แต่อย่างไรก็ตามกระผมคิดว่า “พระไตรปิฎกฉบับสำหรับประชาชน” เป็นงานแห่งชีวิตของท่าน ซึ่งไม่รู้อีกกี่ปีถึงจะมีคนทำได้ เพราะคนที่สามารถทำได้จะต้องเชี่ยวชาญแตกฉานในภาษาบาลี ภาษาอังกฤษ ศึกษาเปรียบเทียบอย่างใกล้ชิด ทั้งในพระวินัยปิฎก พระสุตตันตป็ฎก และพระอภิธรรมปิฎก จึงจะสามารถทำได้ แต่ท่านอาจารย์สามารถทำได้ และหนังสือเล่มนี้เท่าที่กระผมฟังประชาชนชาวบ้านที่สนใจทางพุทธศาสนา เขาก็บอกว่าเขาเห็นคุณค่าของหนังสือเล่มนี้มากเหลือเกิน

เวลานี้ทางมหามกุฏราชวิทยาลัย กำลังแปลเป็นภาษาอังกฤษ และก็มีโครงการจะพิมพ์เอาไปไว้ตามโรงแรมต่าง ๆ ทั่วประเทศไทย เพื่อให้ชาวต่างประเทศได้อ่าน แต่ถ้ามีทุนรอนมาก มีแรงศรัทธามาช่วยกันมาก ก็อาจส่งไปไว้ตามโรงแรมในต่างประเทศด้วย แล้วกระผมเองก็ได้รับเกียรติให้มีส่วนร่วมในการแปลพระไตรปิฎกฉบับนี้ มีคณะทำงานเป็นอาจารย์หลายท่าน แต่เมื่อทำจริง ๆ แล้ว เห็นว่าเป็นงานที่ยากแสนสาหัส ไม่ใช่งานง่าย ๆ ต้องตรวจสอบกับต้นฉบับภาษาบาลีภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ศัพท์แสงทั้งหลายที่ไม่มีก็ต้องค้นหากัน เพราะต้องการให้เป็นหนังสือที่สมบูรณ์แบบ สามารถพิมพ์เผยแพร่ในระดับโลกได้ เพราะฉะนั้นจึงช้ามากแปลมาแล้วประมาณ ๑ ปี ๖ เดือน ยังไม่จบแต่ก็คิดว่าอย่างช้าที่สุดสัก ๑ ปี ก็คงเสร็จสิ้นสมบูรณ์พร้อมทุกอย่าง เวลานี้ก็ได้มาประมาณ ๑ ใน ๓ แล้ว อันนี้ก็ขอเรียนให้ทราบว่า งานนี้เป็นงานสำคัญที่สุดในชีวิตของท่านอาจารย์ จะเป็นงานที่ไม่มีใครสามารถทำได้เท่าเทียมกับท่าน เป็นอนุสรณ์แห่งชีวิตที่สำคัญของท่านอาจารย์

นอกจากนี้ ท่านอาจารย์ก็ยังมีหลายอย่าง ซึ่งกระผมไม่สามารถจะนำมาเล่าได้หมดแต่สิ่งที่จะขาดเสียไม่ได้ก็คือ คุณธรรมส่วนตัวของท่านอาจารย์ ท่านอาจารย์ไม่เพียงแต่สอนคน แต่ว่าท่านยังทำตามที่สอนด้วย ท่านทำได้ทุกอย่างที่ท่านสอน สมกับพระพุทธภาษิตที่ว่า “ยถาวาที ตถาการี” “พูดอย่างไร ทำอย่างนั้น” ท่านอาจารย์ดำรงชีวิตที่บริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีอบายมุขใด ๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง ท่านทำหน้าที่ของท่านในฐานะต่าง ๆ ได้ครบถ้วนบริบูรณ์เป็นครูผู้สมบูรณ์แบบของศิษย์ เป็นพ่อแม่ที่สมบูรณ์แบบของลูก เป็นสามีที่สมบูรณ์แบบของภรรยา เป็นพุทธศาสนิกชนที่สมบูรณ์แบบของพระพุทธศาสนา กระผมพยายามหาจุดบกพร่องของท่านอาจารย์ “ขอประทานโทษยังหาไม่พบครับ...” แม้แต่กิริยาอาการที่แสดงถึงความโลภ โกรธ หลง ก็ไม่มี ตลอดเวลาที่อยู่ใกล้ชิดท่านมาหลายสิบปี ผมยังไม่เคยเห็นท่านอาจารย์โกรธกระฟัดกระเฟียด ยังไม่เคยเห็นท่านอาจารย์นินทาว่าร้ายใคร ไม่เคยได้ยินจริง ๆ ครับ กระผมถามลูกศิษย์หลายท่าน ก็พูดเป็นเสียงเดียวกัน ท่านไม่เคยพูดถึงใครในแง่ร้าย ถึงแม้เขาจะมีความร้าย ท่านก็เฉยเสีย ไม่พูด พูดถึงแต่ในแง่ดี ท่านไม่เคยพูดถึงเรื่องของครอบครัว ไม่เคยพูดถึงเรื่องส่วนตัว ดำรงชีวิตแบบง่าย ๆ สมถะ

เมื่อก่อนท่านถึงแก่มรณกรรมไม่กี่วัน กระผมมาทำงานที่มหามกฎฯ พอตอนเที่ยง กระผมก็เดินไปตามร้านเพื่อทานก๋วยเตี๋ยว ไปไหนท่านอาจารย์กำลังรับประทานก๋วยเตี๋ยวปลาอยู่ที่ร้านริมคลองบางลำภู นั่งอยู่คนเดียวเงียบ ๆ กระผมเห็นเข้ารู้สึกสงสารท่านอาจารย์ ทำไมท่านถึงดำรงชีวิตเรียบง่ายอย่างนี้ กระผมก็เลยขออนุญาตเป็นเจ้าภาพ ก็ได้ทำบุญกับท่านเป็นครั้งสุดท้าย ได้เลี้ยงก๋วยเตี๋ยวชามหนึ่ง ท่านอาจารย์เป็นคนแต่งตัวเรียบง่าย ดำรงชีวิตง่าย ๆ ไม่หรูหราฟู่ฟ่าใด ๆ ทั้งสิ้น เป็นคุณสมบัติของผู้บำเพ็ญประพฤติปฏิบัติธรรมอย่างแท้จริง

ท่านที่เคารพครับ ถ้าจะพูดไปก็คงกินเวลามาก กระผมจึงใคร่จะขอฝากไว้ว่า บัดนี้ท่านอาจารย์สุชีพ ซึ่งเป็นที่เคารพรักของพวกเราทั้งหลาย ได้ถึงแก่อนิจกรรมไปแล้ว แต่การถึงอนิจกรรมของท่านในครั้งนี้ ท่านกำลังสอนเรา ยังสอนเราอยู่แม้ร่างท่านจะอยู่ในโลง แต่ท่านก็สอนเรา สอนด้วยการปฏิบัติจริงให้เห็นท่านสอนธรรมะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ว่าสังขารทั้งหลายเป็น อนิจจัง ไม่เที่ยง แปรปรวนเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ไม่เคยหยุดนิ่ง

เวลานี้ท่านกำลังบอกอยู่ว่า สังขารร่างกายที่นอนอยู่ในโลงในหีบ เมื่อ ๘๔ ปีที่แล้ว ก็ไม่มีอาจารย์สุชีพปุญญานุภาพ เลยในโลกนี้ แต่คืนวันหนึ่งจากไม่มีอะไรมาสู่ “เซลล์” หน่วยหนึ่งในครรภ์มารดาของท่าน ถ้าพวกเขาไปเห็นเซลล์นั้น เราก็ไม่ทักไม่ทาย เพราะเซลล์นั้นยังไม่ใช่อาจารย์สุชีพ หลังจากนั้น ๙ เดือน มีทารกตัวแดง ๆ ร้องอยู่ข้างแม่ของท่าน หลังจากนั้นมาหลายปีก็กลายเป็นเด็กวิ่งไปวิ่งมา เป็นเด็กชายบุญรอด ต่อมาก็ได้บวชเป็นสามเณร “สามเณรบุญรอด” ต่อมาเป็นพระ ก็เป็น “พระมหาบุญรอด” .. เป็น “เจ้าคุณศรีวิสุทธิญาณ” ต่อมาก็เป็น อาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ... เป็นคุณพ่อสุชีพ ปุญญานุภาพ... เป็นคุณตาสุชีพ ปุญญานุภาพ... คุณปู่สุชีพ ปุญญานุภาพ จนในที่สุด นอนอยู่ในหีบ เป็นศพสุชีพ ปุญญานุภาพ และก็อีกไม่กี่วัน ก็เป็นเพียงกระดูกสุชีพ ปุญญานุภาพ..ขี้เถ้าสุชีพ ปุญญานุภาพ อีกไม่กี่ ๑๐ ปี ก็หายไป ไม่มีอะไรเหลือ

นั่นแหละครับ ท่านอาจารย์สอนเราด้วยของจริง ว่าชีวิตไม่เที่ยง เปลี่ยนแปลง เป็นกระแสไหลไปตามทางของมัน ไม่มีอะไรหยุดนิ่ง เราทุกคนที่นั่งอยู่ที่นี่ ไม่ได้อยู่เฉย ๆ เปลี่ยนแปลงทุกวินาที สิ่งที่กำลังเปลี่ยนแปลงตลอดเวลานั้น เราจะเห็นของจริงไม่ได้เห็นแต่ภาพชั่วขณะจิตหนึ่ง ภาวะจิตหนึ่งเหมือนเข็มนาฬิกาที่มันเดินอยู่ตลอดเวลา เราบอกเวลาไม่ถูกหรอก ไม่สู้ใครในโลกนี้ที่จะบอกเวลาได้ถูก เพราะถ้าบอกเวลาว่า ๒ ทุ่ม ๓๐ นาที ๒๐ วินาที พอบอกเสร็จมันก็เลยไปแล้ว เป็นอย่างน้อย ๑ วินาที นี่คือหลักอนิจจัง ที่ท่านอาจารย์สอนเราอยู่เวลานี้ ถ้าเรารู้อนิจจังเราจะไม่ยึดไม่ติด เราจะให้สิ่งทั้งหลายไหลไปตามทางของมัน ไม่ไปยึดไปติด จิตใจเป็นอิสรเสรี เฝ้าดูสิ่งทั้งหลายเปลี่ยนแปลงไปด้วยจิตใจที่สงบสุข ความโลภจะลดลง เพราะไม่รู้จะกอบโกยไปทำไม อีกไม่กี่ปี เราก็จะจากไปแล้ว ทิ้งทุกสิ่งทุกอย่างไว้เบื้องหลัง ทำแทบล้มแทบตาย คนอื่นเอาไปกินหมด

ข้อสองที่ท่านสอนเราก็คือ “ทุกขัง”..ความทุกข์... “เกิด” ก็เป็นทุกข์... “แก่” ก็เป็นทุกข์... “เจ็บ” ก็เป็นทุกข์.. “ตาย” ก็เป็นทุกข์... ท่านแสดงให้เราเห็น “เกิด แก่ เจ็บตาย” ตัวไหนเป็นทุกข์มากที่สุด ทุกข์ที่ร้ายที่สุด บางท่านอาจจะบอกว่าตาย ไม่ใช่ครับทุกข์ที่หนักที่สุดคือ “เกิด” เพราะเกิดจึงมีแก่ เจ็บ ตาย ถ้าไม่เกิด ก็ได้แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตายเพราะฉะนั้น “เกิด” เป็นตัวทุกข์ที่ร้ายแรงที่สุดเพราะฉะนั้นเวลาเราไปแจ้งว่ามีคนตาย ถ้าเขาถามว่าตายด้วยโรคอะไร อย่าไปบอกว่าด้วยโรคชรา ท้องเสีย มะเร็ง เอดส์ ให้บอกว่าตายด้วยโรคเกิด จึงจะถูกต้อง ส่วนอื่น ๆ เป็นเพียงปัจจัยประกอบเท่านั้นเอง เพราะเหตุนี้เองพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พอตรัสรู้เสร็จ ทรงเปล่งอุทานออกมา ไม่ได้เปล่งอุทานประกาศชัยชนะเหนือความตาย แต่เปล่งอุทานประกาศชัยชนะเหนือการเกิดว่า ขีณา ชาติ ความเกิดหมดแล้ว นตฺถิทานิ ปุนพฺภโว บัดนี้ไม่มีการเกิดใหม่อีกแล้ว น คพฺภเสยฺยํ ปุนเร ไม่มีการเข้านอนคุดคู้ในครรภ์อีกแล้ว

ประการที่สาม ท่านอาจารย์สอนเราถึง “อนัตตา” อนัตตาแปลว่า “ไม่ใช่ของเรา” ไม่มีอะไรเป็นของเรา ทรัพย์สมบัติไม่ใช่ของเรา ไม่ว่าจะเป็นบ้านเรือน ที่ดิน รอยนต์ เงินทอง เสื้อผ้า เครื่องประดับ ไม่ใช่ของเรา ถ้าเราตายไปคนอื่นก็เอาไปใช้ ถ้าคนในโลกนี้ตายหมด ก็กองถมแผ่นดิน ในที่สุดแม้แต่ร่างกายของเราก็ไม่ใช่ของเรา ท่านอาจารย์สอนเราอยู่เวลานี้สังขารร่างกายของเราที่เรายึดหนักหนาว่าเป็นของฉัน ความจริงไม่ใช่หรอกครับ ถ้าถามว่าสังขารของเรามาจากไหน ท่านก็บอกว่ามาจากอาหารที่เรากินเข้าไป ถ้าถามว่าข้าว น้ำ มาจากไหน... มาจากดินและแผ่นดิน เพราะฉะนั้นตัวเราทั้งตัวมาจากแผ่นดิน แผ่นดินเป็นเจ้าของแท้เจ้าของดั้งเดิม เรายืมเขาใช้ชั่วคราว ๕๐ ปี๖๐ ปี ๗๐ ปี ท่านอาจารย์ยืมใช้ ๘๓ ปี พอถึงเวลาท่านก็ส่งคืน

ตัวผมเองยอมใช้มา ๗๓ ปีแผ่นดินก็ทวงทุกวันเวลานี้

“อาจารย์ ให้มานานแล้วนะ ส่งคืนซักทีเถอะ”

เราก็บอก “แผ่นดินท่านเจ้าของ ขอใช้ต่ออีกหน่อยเถอะ”

แผ่นดินบอก “ไม่เป็นไร แต่ต้องดูแลให้ดีหน่อยนะ ถ้าดูแลดี ก็จะให้ใช้ได้นาน แต่ถ้าดูแลไม่ดีก็จะให้คืนเร็ว” แผ่นดินบอกต่อ “แต่อยากได้คืนเร็ว ๆ ให้ผ่อนส่งก็แล้วกัน”

ผมบอกผ่อนส่งก็ได้ครับ ค่อย ๆ ถอนฟันออกไปทีละซี่สองซี่ส่งคืนเขาจนจะหมดปากอยู่แล้ว พอหวีเสยหัว ผมก็ออกเป็นกระจุกติดออกมา เวลานี้เวลาเดินหลังไม่ค่อยตรงแล้ว อีกซักหน่อยอาจต้องถือไม้เท้า

นี้แสดงว่า เจ้าของเดิมเขาเตือนแล้วครับ เขาบอกว่าอาจารย์เกือบได้เวลาแล้วนะ เริ่มมองหาซะ จุดที่จะกลับบ้านเดิม จะเอาจุดไหน... ถ้าคิดได้ว่าไม่มีอะไรเป็นของเรา เรายืมเขาใช้ชั่วคราวเราก็ไม่ทุกข์ครับ สบาย ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนสบายทั้งสิ้น... ท่านอาจารย์แม้ท่านจะนอนอยู่ในหีบในโลง ท่านได้สอนเราด้วยของจริง เพราะฉะนั้นเรามาในงานศพท่าน และถ้าอยากจะตอบสนองคุณท่าน ก็ฝึกให้เข้าใจสัจธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ ซึ่งเป็นคำสอนที่เป็นธรรมชาติ ทุกสิ่งกำลังสอนเราอยู่ สอนอนิจจังทุกขัง อนัตตา ถ้าพูดในแง่ธรรมะ ทุกสิ่งทุกอย่างกำลังแสดงธรรม เพราะฉะนั้น ท่านอาจารย์แม้จะถึงแก่ชีวิตไปแล้ว ท่านก็ยังอุตส่าห์สอนเราอยู่

ท่านผู้มีเกียรติที่เคารพครับ บัดนี้ก็ได้เวลาที่กระผมจะต้องยุติ กระผมใคร่ขอเชิญชวนทุกท่านที่มีความเคารพรักในท่านอาจารย์จงตั้งจิตให้สงบเป็นสมาธิ แล้วก็น้อมนึกถึงบุญกุศลทั้งหลายที่เราได้กระทำมา หรือด้วยบุญกิริยาใด ๆ ก็ตาม ที่ทำด้วยกาย วาจา ใจ ข้าพเจ้าขออุทิศส่วนกุศลทั้งหมดนั้น แด่ท่านอาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ ไม่ว่าท่านจะอยู่ในสภาวะใด หรือไปเกิดในภพภูมิใดใน ๓ ภพก็ดี ขอจงได้รับทราบส่วนกุศลที่เราอุทิศแก่ท่าน ถ้าท่านไม่สามารถรับรู้ได้ ด้วยอุปสรรคใด ๆ ที่มาขวางไว้ ขอเทพเจ้าเหล่าเทวดาที่ทรงศักดานุภาพ โปรดได้นำข่าวกุศลกรรมนี้ไปแจ้งให้ท่านได้รับทราบ เมื่อท่านได้รับทราบแล้ว จงอนุโมทนาด้วยอำนาจปัตตานุโมทนามัยกุศลนั้นขอท่านอาจารย์จงมีความสุขยิ่ง ๆ ขึ้นไป ในภพของท่าน หากจะมีเศษทุกข์ใด ๆ เหลืออยู่ด้วยเศษแห่งกรรมใด ๆ ก็ตาม ขอให้ท่านอาจารย์จงพ้นจากความทุกข์นั้นโดยพลันเทอญ

อ่าน สุชีพ ปุญญานุภาพ : อะไหล่ที่หาไม่ได้
โดย เสฐียรพงษ์ วรรณปก

อ่าน ท่านมาอย่างไร ท่านไปอย่างนั้น
ปาฐกถาของศาสตราจารย์พิเศษ เสฐียรพงษ์ วรรณปก ราชบัณฑิต

อ่าน ประวัติของท่าน