เทวดาสี่แยกราชประสงค์
จากหนังสือประสบการณ์ทางวิญญาณของ ทองทิว สุวรรณทัต
คัดสรรและรวบรวมโดยเดลินิวส์
คัดลอกจาก http://www.thaidfl.com/story/00001.html
ที่โรงแรมเอราวัณนั้น มีศาลท่านท้าวมหาพรหม
ที่เป็นที่รู้จักกันดี ลองมาทำความรู้จักกับ พลเรือตรีหลวงสุวิชานแพทย์ ผู้ติดต่อและอัญเชิญ
เมื่อทางรัฐบาลมีความเห็นว่า โรงแรมเอราวัณอันเป็นโรงแรมที่เชิดหน้าชูตาของเมืองไทยสมัย ๒๐ กว่าปีมานี้เล็กเกินไป ไม่สามารถรองรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศได้เพียงพอ จึงสั่งการรื้อถอนเพื่อสร้างเป็นโรงแรมใหม่นั้น ประชาชนคนไทยส่วนมากที่เคยไปสักการะท่านท้าวมหาพรหม ที่มุมโรงแรมเอราวัณ สี่แยกราชประสงค์ ต่างพากันใจหายใจคว่ำ เกรงว่าทางราชการจะรื้อศาลที่ท่านท้าวมหาพรหมสถิตอยู่ แต่ทุกวันนี้ศาลดังกล่าวก็ยังคงอยู่เหมือนเดิมเพราะไม่มีใครกล้าไปแตะต้อง แม้โรงแรมเอราวัณจะถูกทุบทิ้งไปแล้วก็ตาม ทั้งนี้ด้วยผู้ใหญ่ในรัฐบาลท่านทราบดีถึงประวัติความเป็นมาของศาลท่านท้าวมหาพรหม ซึ่งน้อยคนนักที่จะรู้จึงจะขอนำมาเล่าในวันนี้ เพื่อเป็นการยืนยันว่า สิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้นมีจริง วิญญาณของเทพเบื้องบนนั้นมีจริง ผู้ปฏิบัติธรรมชั้นสูงเท่านั้นจึงจะสามารถติดต่อได้
และท่านผู้นั้นก็คือ ท่านอาจารย์
พล.ร.ต.
หลวงสุวิชานแพทย์ ร.น. อดีตนายแพทย์ใหญ่กรมแพทย์ทหารเรือ ผู้เพียรปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานจนได้ญาณพิเศษ
ที่เรียกว่าพุทธญาณบารมี อันได้แก่มีตาทิพย์ หูทิพย์ และมีอำนาจจิตอันเป็นที่ยอมรับนับถือจากประชาชนคนทั่วไป
ตลอดจนนักปฏิบัติธรรมทั้งหลายมาช้านานตราบท่านถึงแก่อนิจกรรม
เรื่องนั้นมีอยู่ว่า เนื่องจากในสมัยเริ่มก่อสร้างโรงแรมเอราวัณใหม่ ๆ นั้น มีอุปสรรคมากมายอย่างไม่คาดฝัน อาทิ การสั่งซื้อสิ่งของและอุปกรณ์มาแล้วใช้ไม่ได้ เพราะผิดขนาดและผิดความต้องการของฝ่ายช่างเสมอ ทั้งคนงานก็กระทำผิดวัตถุประสงค์ ต้องแก้ไขทำใหม่ เป็นเหตุให้เสียเวลาอยู่เป็นนิจ
ข้อสำคัญที่สุดก็คือ ไม่ว่าช่างปูน ช่างเหล็ก มักจะประสบอุบัติเหตุถึงแก่เลือดตกยางออก อันเป็นสาเหตุให้คนงานเสียขวัญไปตาม ๆ กัน จึงทำให้ผลงานล่าช้ายิ่งขึ้นจนถึงจะทำให้การก่อสร้างโรงแรมเอราวัณหยุดชะงักได้
เมื่อความทราบถึง
พล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์
อธิบดีกรมตำรวจ และประธานกรรมการบริหารโรงแรมเอราวัณ ในสมัยนั้นว่าการก่อสร้างจะแล้วเสร็จไม่ทันตามกำหนด
ท่านจึงได้เรียกประชุมคณะกรรมการบริหาร เพื่อปรึกษาหารือถึงวิธีแก้ไขความล่าช้าในการก่อสร้างโรงแรม
ซึ่งได้มีผู้ใหญ่ท่านหนึ่งได้แนะนำให้ พล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ ติดต่อขอความช่วยเหลือจากท่านอาจารย์ พล.ร.ต. หลวงสุวิชานแพทย์
เป็นการด่วน ด้วยเหตุว่า ท่านอาจารย์คุณหลวงสุวิชานฯ เป็นผู้ที่สามารถหยั่งรู้เหตุการณ์ที่มิชอบด้วยประการทั้งปวง
และมีความสามารถในทางมหัศจรรย์ที่คนธรรมดาสามัญไม่สามารถจะรู้เท่าทันท่านได้
พล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ ได้ฟังคำแนะนำเช่นนั้น
ประกอบกับเคยได้ยินกิตติศัพท์ของท่านอาจารย์คุณหลวงสุวิชานฯ มาแล้วจึงรับคำแนะนำของผู้ใหญ่ท่านนั้นและได้มอบหมายให้ พล.ต.ต.
ม.ล. จเร สุทัศน์ ณ อยุธยา ผู้ควบคุมการก่อสร้างโรงแรมเอราวัณไปติดต่อหารือท่านอาจารย์คุณหลวงสุวิชานฯ
เพื่อขอให้ท่านกรุณาตรวจดูว่า อุปสรรคทั้งหลายในการก่อสร้างโรงแรมเอราวัณนี้มีมูลเหตุมาจากสิ่งใด
และจะมีวิธีแก้ไขให้หมดสิ้นไปได้อย่างไร เพื่อให้การก่อสร้างเสร็จตามกำหนด
เมื่อ พล.ต.ต. ม.ล. จเร สุทัศน์ฯ ได้ไปพบท่านอาจารย์คุณหลวงสุวิชานฯ แล้ว ได้เรียนให้ท่านทราบเรื่องราวโดยละเอียด ท่านอาจารย์คุณหลวงสุวิชานฯ นั่งสมาธิตรวจดูเหตุการณ์ต่าง ๆ จึงได้พบว่า สาเหตุใหญ่ที่ทำให้เกิดอุปสรรคนานาประการในการก่อสร้างโรงแรมเอราวัณครั้งนี้มาจากการตั้งชื่อโรงแรมแห่งนี้ว่า เอราวัณ นั่นเอง เพราะคำว่า เอราวัณ นี้เป็นนามของ ช้างทรงของพระอินทร์
จากนั้นท่านได้แนะนำให้ พล.ต.ต. ม.ล. จเร สุทัศน์ฯ ฟังว่า การก่อสร้างโรงแรมอันเป็นสถานที่ชุมนุมของบุคคลทุกประเภท ที่เข้ามาเช่าเช่นนี้ จะต้องแก้ไขด้วยการบอกกล่าว ขออำนาจต่อท่านท้าวมหาพรหมผู้เป็นใหญ่แห่งสรวงสวรรค์ ขอบารมีของพระองค์ท่าน จงดลบันดาลให้สิ่งที่ร้ายทั้งหลายกลับกลายเป็นดี การก่อสร้างโรงแรมนี้จึงจะลุล่วงได้ทันตามกำหนด และเมื่อได้ก่อสร้างโรงแรมเรียบร้อยแล้ว จะต้องตั้งศาลท่านท้าวมหาพรหมผู้เป็นใหญ่แห่งสรวงสวรรค์ถวายแด่พระองค์ท่านทันที
หลังจากที่ได้รับคำแนะนำจากท่านอาจารย์คุณหลวงสุวิชานฯดังนั้นแล้ว
พล.ต.ต. ม.ล. จเร สุทัศน์ฯ รีบนำความมาเรียนแก่ พล.ต.อ.
เผ่า ศรียานนท์ ให้ทราบ พล.ต.อ. เผ่า จึงมอบหมายให้ พล.ต.ต. ม.ล. จเร ดำเนินการอย่างเร่งด่วน
ครั้นการบนบานศาลกล่าวต่อท่านท้าวมหาพรหมผู้เป็นใหญ่แห่งสรวงสวรรค์ เรียบร้อยแล้ว การก่อสร้างโรงแรมก็เสร็จทันตามกำหนด พล.ต.ต. ม.ล. จเร สุทัศน์ฯ จึงได้เชิญท่านอาจารย์คุณหลวงสุวิชานฯ มาพิจารณาสถานที่ที่จะตั้งศาลถวายท่านท้าวมหาพรหม และปรากฏว่าพระองค์ท่านโปรดตรงมุมของโรงแรมด้านสี่แยกราชประสงค์
สำหรับศาลของท่านท้าวมหาพรหมนี้ คุณเจือระวี
ชมเสวี กับ ม.ล. ปุ่น มาลากุล เจ้าหน้าที่กรมศิลปากรเป็นผู้ออกแบบ ส่วนพระรูปหล่อจำลองนั้น คุณจิตร พิมโกวิท
ช่างโทในสมัยนั้นที่ประจำแผนกกองหัตถศิลป กรมศิลปากร เป็นช่างปั้นตามแบบแผนของกรมศิลปากร โดยการค้นคว้าของ พระยาอนุมานราชธน
เมื่อสร้างศาลท่านท้าวมหาพรหมเสร็จแล้ว จึงได้ประกอบพิธีอัญเชิญขึ้นประทับเมื่อ วันที่ ๙ พฤศจิกายน ๒๔๙๙ โดย ท่านอาจารย์ พล.ร.ต. หลวงสุวิชานแพทย์ ร.น. ได้มอบหมายให้คุณประยูร วงศ์ผดุง เป็นผู้ทำพิธี ด้วยการติดต่อทางจิตผ่านท่านอาจารย์คุณหลวงสุวิชานฯ ซึ่งเป็นผู้ชี้แนะทั้งสิ้น
เรื่องราวมหัศจรรย์เกี่ยวกับองค์ท่าน ท้าวมหาพรหม ที่โรงแรมเอราวัณนี้ เมื่อครั้งที่ พล.ร.ต. หลวงสุวิชานแพทย์ ยังมีชีวิตอยู่ท่านเคยเล่าถึงองค์เทพที่สถิตอยู่ในองค์รูปปั้นท่านท้าวมหาพรหมว่า แท้ที่จริงก็คือทิพย์วิญญาณ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์พระองค์หนึ่งในรัชกาลที่ ๔ ของกรุงรัตนโกสินทร์นั่นเอง
จากการตรวจด้วย ทิพยจักษุ
และการติดต่อทิพย์วิญญาณทางสมาธิ ท่านอาจารย์คุณหลวงสุวิชานฯ ได้เล่าถึงพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว
หลังจากที่พระองค์ท่านเสด็จสวรรคตแล้วได้ไปบังเกิดบนสรวงสวรรค์ชั้นพรหม
ทางมีตำแหน่งหน้าที่เป็นรองท่านท้าวมหาพรหมและได้รับพระนามใหม่ว่า ท่านท้าวเกศโร ซึ่งเมื่อ พล.ร.ต. หลวงสุวิชานแพทย์
ได้ทำพิธีประดิษฐานพระรูปปั้นขององค์ท่านท้าวมหาพรหม จึงได้อัญเชิญพระวิญญาณให้มาสถิตอยู่ที่พระรูปปั้นด้วย
เพื่อให้ช่วยปัดเป่าความทุกข์ยากและความเดือดร้อนของประชาชนที่มาสักการะ ตามปกติพระองค์จะเสด็จประทับยังศาลในตอนค่ำของทุกวัน
ยกเว้นวันพระ เพราะพระองค์เสด็จไปเฝ้าพระพุทธองค์
อนึ่ง การไปขอความช่วยเหลือจากพระองค์ ณ ศาลท่านท้าวมหาพรหมนั้น ถ้าเป็นการกราบไหว้บูชาธรรมดาก็ใช้ดอกไม้สดหรือพวงมาลัยดอกไม้สด ธูป ๗ ดอก เทียน ๑ เล่ม หากเป็นการแก้บนจึงควรถวายด้วยพวงมาลัยที่ร้อยด้วยดอกไม้สดต่างๆ ๗ สี ยาว ๗ ศอก ธูป ๙ ดอก เทียน ๑ เล่ม สำหรับดอกไม้สดนั้น พระองค์ท่านโปรดดอกกุหลาบสีแดง ทั้งนี้มิใช่ท่านอาจารย์คุณหลวงสุวิชานฯ กำหนดขึ้นเอง แต่ทราบได้โดยการติดต่อทางจิตด้วยญาณพิเศษของท่าน ดังได้กล่าวมาแล้ว