#echo banner="" ประวัติอาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ

ประวัติอาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ

คัดลอกจาก

“ปูชนียบุคคลของชาว มมร. อาจารย์สุชีพปุญญานุภาพ”

นิตยสารธรรมจักษุ ปีที่ ๘๕

ฉบับที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๔๓

อาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ เกิด ณ ตำบลบางไทรป่า อำเภอบางปลา (คืออำเภอบางเลนในปัจจุบัน) จังหวัดนครปฐม เมื่อวันศุกร์ที่ ๑๓ เมษายน ๒๔๖๐ ในครอบครัวที่มีอาชีพค้าขาย

ในวัยเด็ก อาจารย์ได้ศึกษาจบชั้นประถมปีที่ ๕ ซึ่งเทียบมัธยมปีที่ ๒ ในสมัยนั้น เมื่อจบการศึกษาเบื้องต้นแล้ว ได้เข้าเรียนภาษาบาลีที่วัดกันมาตุยาราม กรุงเทพฯ อายุราว ๑๓ ปี ก็กลับไปบรรพชาเป็นสามเณร เพื่อศึกษาเล่าเรียนต่อในทางพระศาสนาต่อไป ณ วัดสัมปทวน อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม โดยเป็นศิษย์ของพระปฐมนคราจารย์ (วงศ์ โอทาตวณฺโณ) เจ้าอาวาสวัดสัมปทวน และเจ้าคณะจังหวัดนครปฐมในขณะนั้น แล้วจึงเข้ามาศึกษาเล่าเรียนต่อ ณ วัดกันมาตุยาราม เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพฯ จนสอบไล่นักธรรมและบาลีได้เป็นเปรียญธรรม ๗ ประโยคตั้งแต่ยังเป็นสามเณร

ได้อุปสมบท ณ วัดกันมาตุยาราม เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๐ โดยเจ้าพระคุณสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ ญาณวโร) วัดเทพศิรินทราวาส เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับฉายาว่า สุชีโว หลังจากอุปสมบทได้ ๒ พรรษา ก็สอบไล่ได้เปรียญธรรม ๙ ประโยค เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๒ ซึ่งในปีเดียวกันนั้น มีผู้สอบไล่ ๙ ประโยคได้ ๓ รูป คือ

(๑)  พระมหาบุญรอด สุชีโว คืออาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ

(๒)  พระมหาบุญมี อเวรี (สมสาร) วัดบรมนิวาส ภายหลังลาสิกขาและเปลี่ยนชื่อเป็น เชวง สมสาร

(๓)  พระมหาเช้า ฐิตปญฺโญ (ยศสมบัติ) วัดเขาแก้ว จังหวัดนครสวรรค์ สุดท้ายได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นธรรม ที่ พระธรรมคุณาภรณ์ เจ้าคณะจังหวัดนครสวรรค์ วัดโพธาราม จังหวัดนครสวรรค์

นอกจากจะมีความรู้ภาษาบาลีแตกฉานเป็นอันดีแล้ว อาจารย์ยังมีความรู้ในภาษาสันสกฤตและภาษาอังกฤษเป็นอย่างดีอีกด้วย นอกจากนี้ ยังได้ศึกษาวิชาการสมัยใหม่ต่าง ๆ ที่เป็นว่าภิกษุสามเณรควรจะเรียนรู้ เพื่อประโยชน์แก่การที่จะนำมาประยุกต์กับการสั่งสอนพระพุทธศาสนาแก่ประชาชนให้ได้ผลดียิ่งขึ้น ซึ่งวิชาการทั้งหลายเหล่านี้ อาจารย์ก็พยายามขวนขวายศึกษาเอาด้วยตนเอง โดยการอ่านตำรับตำราทั้งที่เป็นภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ จนกล่าวได้ว่า อาจารย์เป็นพระหนุ่มที่มีหัวก้าวหน้า มีโลกทรรศน์กว้างไกล และมีวิธีการเทศนาสั่งสอนพระพุทธศาสนาแนวใหม่ที่ทันสมัย เป็นที่นิยมชมชอบและเป็นที่รู้จักของพุทธศาสนิกชนทั่งประเทศในขณะนั้น ในนามว่า “สุชีโวภิกขุ” ดังที่ท่านพุทธทาสได้กล่าวถึงอาจารย์ไว้ในหนังสืออัตชีวประวัติของท่าน (คือเรื่อง เล่าไว้เมื่อวัยสนธยา เล่ม ๑) ว่า

“คุณสุชีพ หรือสุชีโวนั่นแหละ ที่ (เป็นดาวเด่น) เป็นคนแรก (ในยุคนั้น) รุ่นอ่อนกว่าผมหน่อย เขามีผลงานตั้งแต่อายุยังน้อย ตอนนั้นเขาเป็นผู้นำคนหนุ่มยุวพุทธ ให้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน เป็นผู้ก่อหวอด ก่อรากมหาวิทยาลัยสงฆ์วัดบวรฯ   เป็นคนแรกที่เทศน์เป็นภาษาอังกฤษในประเทศไทย เขาจัดให้เป็นพิเศษ มีฝรั่งมาฟังหลายคน ตอนหลังผมเคยไปฟังด้วย เจ้าคุณลัดพลี (พระยาลัดพลีธรรมประคัลภ์) พาไป คุณชำนาญก็เคยพาไปเยี่ยมแกถึงกุฏิ”

ท่านพุทธทาส เกิดเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๙ แก่กว่าอาจารย์สุชีพ ๑๑ ปี

หมายถึง สภาการศึกษามหามกุฎราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย

จากประสบการณ์ของอาจารย์เองทำให้เห็นว่า ความรู้ภาษาต่างประเทศและความรู้ในวิชาการสมัยใหม่นั้น เป็นประโยชน์ต่อการสั่งสอนและเผยแผ่พระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก ฉะนั้นอาจารย์จึงมีความปรารถนาที่จะให้ภิกษุสมาเณรได้เรียนรู้วิชาการเหล่านี้ เพื่อจะได้เป็นศาสนทายาทที่มีคุณภาพ ทันโลกทันเหตุการณ์อันจะทำให้สามารถสั่งสอนพระพุทธศาสนาแก่ประชาชนได้อย่างมีประสิทธิผล

ด้วยความปรารถนาดังกล่าวแล้ว อาจารย์จึงได้ริเริ่มสอนภาษาอังกฤษและวิชาการสมัยใหม่บางวิชาที่สามารถสอนได้ด้วยตนเองแก่ภิกษุสามเณรวัดกันมาตุยาราม เป็นการกระตุ้นให้พระหนุ่มเณรน้อยสนใจใฝ่รู้ในวิชาการต่าง ๆ และเห็นคุณประโยชน์ของวิชาการเหล่านั้นในแง่ของการนำมาส่งเสริมการเผยแผ่พระพุทธศาสนา

อาจารย์ได้เริ่มสอนภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ และวิชาอื่น ๆ อีกบ้าง แก่ภิกษุสามเณรที่สนใจ โดยใช้ชั้นล่างของกุฏิที่พักของอาจารย์นั่นเองเป็นสถานที่เรียน ปรากฏว่าได้รับความสนใจจากพระหนุ่มเณรน้อยไม่น้อย มีผู้มาเล่าเรียนกันมาก

ต่อมา ท่านเจ้าคุณพระพรหมมุนี (ผิน สุวโจ) วัดบวรนิเวศวิหาร ซึ่งขณะนั้น ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการมหามกุฎราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งตั้งสำนักงานอยู่ ณ ตึกหอสมุดมหามกุฎราชวิทยาลัย หน้าวัดบวรนิเวศวิหาร ได้ทราบว่าอาจารย์ได้เปิดสอนภาษาและวิชาการสมัยใหม่แก่พระภิกษุสามเณรที่วัดกันมาตุยารามดังกล่าวแล้ว วันหนึ่งท่านจึงได้ปรารภกับอาจารย์ว่า เมื่อเห็นว่าเป็นสิ่งที่ดีมีประโยชน์ ทำไมไม่ตั้งเป็นโรงเรียนสอนกันให้เป็นเรื่องเป็นราวเสีย

จากคำปรารภของท่านเจ้าคุณพระพรหมมุนี )(สุวจเถระ) นี้เอง ที่เป็นแรงกระตุ้นและแรงใจให้อาจารย์เกิดความคิดที่จะก่อตั้งมหาวิทยาลัยสงฆ์ขึ้น ต่อมาเมื่อได้นำความคิดนี้ไปปรึกษากับพระเถรานุเถระในคณะธรรมยุตก็ได้รับการสนับสนุนเป็นส่วนมาก จิมีติติงอยู่บ้างก็เป็นส่วนน้อย อันเนื่องมาจากยังไม่ค่อยแน่ใจในระบบการศึกษาและวิธีการ ในที่สุดพระเถรานุเถระในคณะธรรมยุตก็ได้มีการประชุมกัน และมีมติให้จัดตั้งมหาวิทยาลัยสงฆ์ขึ้น ในนามของ มหามกุฎราชวิทยาลัยอันเคยเป็นสถาบันการศึกษาของพระสงฆ์มาแต่เดิมแล้ว โดยเรียกว่า “สภาการศึกษามหามกุฎราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย” เจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ แต่ครั้งยังไม่ได้ทรงกรม ในฐานะองค์นายกกรรมการมหามกุฎราชวิทยาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ทรงลงพระนามประกาศตั้ง เมื่อวันที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๔๘๘ สภาการศึกษามหามกุฎราชวิทยาลัย จึงเป็นมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนา หรือมหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งแรกในประเทศไทย

ผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการจัดตั้งมหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งนี้ ก็คืออาจารย์สุชีพ และผู้ที่เป็นแรงผลักดัน และให้การสนับสนุนอย่างสำคัญ จนการจัดตั้งมหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งนี้สำเร็จลุล่วงไปได้ก็คือ ท่านเจ้าคุณพระพรหมมุนี (สุวจเถระ) หากขาดแรงสนับสนุนจากพระมหาเถระท่านนี้เสียแล้ว การจัดตั้งมหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งนี้ก็คงเป็นไปได้ยาก

อันที่จริง ความดำริที่จะจัดตั้งมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนา หรือมหาวิทยาลัยสงฆ์ขึ้นในประเทศไทยนั้น มิใช่เพิ่งเกิดในครั้งนี้เป็นครั้งแรก เพราะสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ได้ทรงพระดำริไว้เมื่อกว่า ๑๐๐ ปี มาแล้ว โดยทรงพระดำริที่จะใช้พื้นที่บริเวณบางลำพูทั้งเกาะ เป็นที่ตั้งมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนา และการที่พระองค์ทรงจัดตั้ง มหามกุฎราชวิทยาลัยขึ้น ก็เพื่อเป็นการปูทางไปสู่การจัดตั้งสถาบันการศึกษาชั้นสูงของพระพุทธศาสนา หรือมหาวิทยาลัยสงฆ์นั่นเอง แต่ยังมิทันจะได้ทรงดำเนินการตามพระดำริ ก็สิ้นพระชนม์เสียก่อน

ฉะนั้น การจัดตั้งสภาการศึกษามหามกุฎราชวิทยาลัย หมาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย ขึ้นครั้งนี้ จึงเป็นการสานต่อพระดำริของสมเด็จพระมหาสมณเจ้าพระองค์นั้นให้เป็นจริงขึ้นนั่นเอง

ในระหว่างนี้ อาจารย์ได้เป็นผู้สนับสนุนให้เกิดกิจกรรมทางพระพุทธศาสนาที่สำคัญขึ้นอีกอย่างหนึ่ง คือ ยุวพุทธิกสมาคม โดยอาจารย์เสถียร โพธินันทะ ซึ่งเป็นศิษย์คนสำคัญของอาจารย์ เป็นผู้นำในการจัดตั้ง แล้วยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ก็ได้จัดตั้งขึ้น ณ วัดกันมาตุยาราม เป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ ๑๕ มกราคม ๒๔๙๑ และยังคงเป็นองค์กรที่มีบทบาทสำคัญองค์กรหนึ่งของพระพุทธศาสนาในประเทศไทยสืบมาจนปัจจุบัน

เมื่อจัดตั้งสภาการศึกษามหามกุฎราชวิทยาลัยขึ้นแล้ว อาจารย์สุชีพซึ่งขณะนั้นดำรงสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะสามัญที่ พระศรีวิสุทธิญาณ ก็ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาการศึกษามหามกุฎฯ เป็นรูปแรก อาจารย์ได้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาการศึกษามหามกุฎฯอยู่ ๕ ปี ได้เป็นผู้วางรากฐานทั้งในด้านวิชาการและการบริหารให้แก่มหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งนี้มาตั้งแต่ต้น ถึงวันที่ ๔ มกราคม พ.ศ. ๒๔๙๕ อาจารย์ก็ลาสิกขา การลาสิกขาของอาจารย์นับเป็นข่าวใหญ่ของหนังสือพิมพ์เมืองไทยข่าวหนึ่งในยุคนั้น

เมื่ออาจารย์ลาสิกขาแล้ว ท่านเจ้าคุณพระญาณวโรดม (ประยูร สนฺตงฺกุโร) วัดเทพศิรินทราวาส ขณะยังเป็นพระมหาประยูร เปรียญ ๙ ก็ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาการศึกษามหามกุฎราชวิทยาลัยต่อมาเป็นรูปที่ ๒  (ต่อมาตำแหน่งเลขาธิการได้เปลี่ยนเป็นอธิการบดี และผู้ที่ดำรงตำแหน่งอธิการบดีสภาการศึกษามหามกุฎราชวิทยาลัยเป็นรูปแรกและรูปปัจจุบัน ก็คือ ท่านเจ้าคุณพระธรรมปัญญาจารย์ (ประจวบ กนฺตจาโร วัดมกุฎกษัตริยาราม)

หลังจากที่ลาสิกขาแล้ว อาจารย์ก็ยังช่วยเหลือกิจการของสภาการศึกษามหามกุฎฯอยู่ตลอดมา โดยการเป็นกรรมการ เป็นที่ปรึกษา และเป็นอาจารย์บรรยายวิชาทางพระพุทธศาสนาและศาสนาเปรียบเทียบ

อาจารย์ได้เข้ารับราชการครั้งแรกในกระทรวงวัฒนธรรม (ซึ่งตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๕ และยุบเลิกไปเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๑) โดยเป็นเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งมี จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นรัฐมนตรีว่าการ และระหว่างนั้น ได้รับพระราชทานยศในกองทัพเรือเป็น ว่าที่นาวาตรี ต่อมาก็ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการสภาวัฒนธรรมแห่งชาติอีกตำแหน่งหนึ่ง

ต่อมาได้ลาออกจากกระทรวงวัฒนธรรมแล้วเข้าทำงานในองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (อสท.) ในฐานะที่ปรึกษาและต่อมาก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการ และรองผู้อำนวยการ ตามลำดับ อาจารย์ได้ทำงาน ณ องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จนกระทั่งเกษียณอายุเมื่อกลางเดือนเมษายน ๒๕๒๐

เมื่อเกษียณอายุจากหน้าที่การงานแล้ว อาจารย์ก็ได้อุทิศชีวิตให้แก่กิจการทางพระพุทธศาสนาอย่างเต็มที่ ได้กลับมาช่วยกิจการทางวิชาการของสภามหามกุฎราชวิทยาลัยได้อย่างเต็มที่ โดยการเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และเป็นผู้บรรยายวิชาทางพระพุทธศาสนา เป็นกรรมการสภาการศึกษาของคณะสงฆ์ นอกจากนี้ ก็ยังได้รับเชิญเป็นอาจารย์พิเศษ บรรยายวิชาทางพระพุทธศาสนาในมหาวิทยาลัยของรัฐอีกหลายแห่ง เช่น มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยรามคำแหง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นต้น

กิจการทางพระพุทธศาสนาที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง ที่อาจารย์ได้เข้ามาช่วยอย่างเต็มตัว หลังจากที่อาจารย์เกษียณอายุแล้ว ก็คือ องค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก (พสล.) โดยได้รับแต่งตั้งเป็น กรรมการอำนวยการ อาจารย์ต้องดูแลรับผิดชอบกิจกรรมทางวิชาการของ พสล. เป็นส่วนใหญ่

อาจารย์เป็นผู้มีพรสวรรค์ในการประพันธ์ สามารถประพันธ์ได้ทั้งในเชิงร้อยแก้วและร้อยกรอง ผลงานในทางการประพันธ์ของอาจารย์ จึงมีทั้งเป็นบทกวีความเรียงทางวิชาการ บทความ และนวนิยาย ข้อเขียนของอาจารย์ซึ่งรวมไปถึงบทเทศนา และการบรรยายธรรมด้วย เป็นถ้อยคำสำนวนแบบเรียบ ๆ ง่าย ๆ แต่กะทัดรัด ชัดเจนและมีความไพเราะอยู่ในตัว อาจารย์ได้เริ่มแสดงความสามารถในทางการประพันธ์ และการบรรยายตั้งแต่ยังเป็นสามเณรเปรียญ

ผลงานที่โดดเด่นที่ทำให้อาจารย์เป็นที่รู้จักกันทั่งไปในนามว่า “สุชีโวภิกขุ” และตลอดมาจนถึงปัจจุบัน ก็คือความสามารถในการมองและอธิบายพระพุทธศาสนาในแง่มุมที่แปลกใหม่ อันเป็นแง่มุมที่ไม่เคยมีใครมองมาก่อน หรือเป็นแง่มุมที่คนทั่วไปมองไม่เห็น และนำเอาประเด็นที่สำคัญและโดดเด่นของพระพุทธศาสนาในแง่มุมนั้น ๆ ออกมาแสดงให้คนทั่วไปได้รู้จัก ตัวอย่างของผลงานของอาจารย์ที่แสดงให้เห็นถึงความสามารถดังกล่าวนี้ ก็เช่น หนังสือเรื่อง “คุณลักษณะพิเศษบางประการแห่งพระพุทธศาสนา” (ซึ่งก็มีแปลเป็นภาษาอังกฤษด้วย รวมทั้งบทความและปาฐกถาอื่น ๆ อีกจำนวนมาก

ผลงานที่โดดเด่นอีกประการหนึ่งของอาจารย์ก็คือการอธิบายพระพุทธศาสนาแนวใหม่ โดยการนำเอาความรู้วิชาการสมัยใหม่ เช่นวิทยาศาสตร์ ปรัชญา สังคมศาสตร์ เป็นต้น มาประยุกต์กับหลักธรรมในพระพุทธศาสนา ทำให้คนทั่วไปเข้าใจพระพุทธศาสนาได้ดีและง่ายขึ้น ทั้งทำให้มองคุณค่าของพระธรรมคำสอนในพระพุทธศาสนาว่ามีความทันสมัย สามารถนำมาปรับใช้ได้กับทุกสถานการณ์ หากศึกษาให้มีความรู้ความเข้าใจในคำสอนของพระพุทธศาสนาเป็นอย่างดี นอกจากนี้ การอธิบายพระพุทธศาสนาในแนวประยุกต์ดังกล่าวนี้ ยังเป็นเครื่องชี้ให้เห็นว่า บรรดาศาสตร์หรือวิชาความรู้ด้านต่าง ๆ ที่กำลังศึกษาหรือตื่นเต้นกันอยู่ในปัจจุบันนั้น ล้วนเป็นเรื่องที่พระพุทธเจ้าได้เคยแนะนำสั่งสอนประชาชนมาแล้วทั้งนั้นในหลักการใหญ่ ๆ ความสามารถในการอธิบายพระพุทธศาสนาแนวใหม่ หรือแนวประยุกต์นี้เอง ที่ทำให้นาม “สุชีโวภิกขุ” ดังกระฉ่อนไปทั่วประเทศ

ผลงานของอาจารย์ในด้านนี้ ไม่เพียงแต่ทำให้ชื่อเสียงของอาจารย์เป็นที่รู้จักและเป็นที่นิยมชมชอบไปทั่วประเทศเท่านั้น แต่ได้ก่อให้เกิดผลดีต่อวงการศึกษาและเผยแผ่พระพุทะศาสนาด้วยเป็นอันมาก เพราะเป็นการจุดประกายแห่งความริเริ่มและความสนใจในการศึกษาวิจัยทางพระพุทธศาสนาให้เกิดขึ้นในวงการศึกษาและวงการนักวิชาการของไทย และในเวลาต่อมาก็ได้มีการศึกษาวิจัยทางพระพุทธศาสนาในแนวประยุกต์กันอย่างจริงจัง และกว้างขวางยิ่งขึ้น ผลงานของอาจารย์ที่แสดงให้เห็นถึงความสามารถและความริเริ่มในด้านนี้ ก็เช่น ความเรียงเรื่อง “พระพุทธศาสนาในแง่ปรัชญาและวิทยาศาสตร์”, “พระพุทธศาสนากับสันติภาพของโลก”, “แง่คิดบางประการเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา” เป็นต้น

ผลงานของอาจารย์ด้านนี้ก็กล่าวได้ว่าเป็นการสานต่อพระดำริของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส อีกประการหนึ่งเช่นกัน เพราะพระองค์ทาสงทรงเป็นนักวิชาการทางพระพุทธศาสนาพระองค์แรกของไทย ที่ทรงริเริ่มการอธิบายพระพุทธศาสนาในแนวประยุกต์ หรือการอธิบายพระพุทธศาสนาให้เป็นวิทยาศาสตร์เพื่อความเข้าใจของคนร่วมสมัย ดังจะเห็นได้จากงานพระนิพนธ์ของพระองค์ท่าน เช่น พุทธประวัติ ธรรมวิภาค ธรรมวิจารณ์ และธรรมนิพนธ์อื่น ๆ  อีกเป็นอันมาก ซึ่งได้ทรงนำเอาความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และสังคมศาสตร์ เป็นต้น มาประยุกต์ในการอธิบายพระพุทธศาสนา แต่เมื่อสิ้นสมัยของพระองค์ท่านแล้ว แนวพระดำริดังกล่าวนี้ก็ถูกลืมเลือนไป เพราะไม่มีผู้สานต่อ

ผลงานที่เป็นการบุกเบิกของอาจารย์อีกอย่างหนึ่งในทางวรรณกรรมและวงการพระพุทธศาสนาของไทย ก็คือการแต่งนวนิยายอิงหลักธรรม ความบันดาลใจที่ทำให้อาจารย์ริเริ่มงานด้านนี้เกิดขึ้นเมื่ออาจารย์อ่านเรื่อง กามนิต ของ คาล เยลเลรุป ขณะเป็นสามเณรอายุราว ๑๕ - ๑๖ ปี เรื่องนี้เดิมประพันธ์ขึ้นในภาษาเยอรมันและแปลเป็นภาษาอังกฤษ ต่อมาผู้รู้ของไทยได้แปลจากภาษาอังกฤษสู่ภาษาไทยในชื่อว่า กามนิต นวนิยายเรื่องนี้ผู้ประพันธ์ได้อาศัยเรื่องราวจากคัมภีร์พระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน ประกอบกับเรื่องราวจากคัมภีร์ฝ่ายพราหมณ์บ้าง สร้างเป็นเรื่องราวขึ้น โดยมุ่งให้ผู้อ่านได้รับรสทั้งในแง่วรรณกรรม ศาสนาและศีลธรรม ไปพร้อม ๆ กัน อาจารย์เห็นว่าเป็นวิธีการสั่งสอนศีลธรรมและเผยแผ่พระพุทธศาสนาได้ดีวิธีหนึ่ง เมื่ออ่านเรื่องกามนิตในครั้งนั้น อาจารย์มีความประทับใจมากถึงกับตั้งใจไว้ว่า เมื่อศึกษาพระพุทธศาสนามีความรู้พอ ก็จะแต่งเรื่องทำนองนี้ขึ้นบ้าง

ครั้นอายุได้ ๒๒ ปี ขณะยังเป็นพระเปรียญ ๙ ประโยค อาจารย์ก็สามารถทำได้ตามที่ตั้งใจไว้ คือได้แต่งเรื่อง ใต้ร่มกาสาวพัสตร์ ขึ้นและนำลงตีพิมพ์ในหนังสือธรรมจักษุ เป็นตอน ๆ เป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๔ นับเป็นผลงานทางนวนิยายอิงหลักธรรม เรื่องแรกของอาจารย์ และของวงการวรรณกรรมไทยด้วย

เมื่อจบเรื่องใต้ร่มกาสาวพัสตร์ อันเป็นเรื่องราวของพระองคุลิมาลแล้ว เรื่อง กองทัพธรรม อันเป็นเรื่องของพระสารีบุตร พระธรรมเสนาบดีก็ตามมา และจากนั้นอาจารย์ก็ได้รับการขอร้องให้แต่งเรื่องอื่น ๆ อีกกลายเรื่องตามลำดับ คือเรื่อง ลุ่มน้ำนัมมทา เป็นการอธิบายเรื่องราวความเป็นมาของรอยพระพุทธบาท เรื่อง เชิงผาหิมพานต์ เป็นการสรรเสริญคุณของพระอานนท์ พุทธอุปัฏฐาก เรื่อง อาทิตย์ขึ้นทางตะวันตก เป็นเรื่องราวของการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในโลกตะวันตก เรื่อง นันทะปชาบดี แสดงเรื่องราวของราชวงศ์ศากยะและความเป็นมาของภิกษุณีในพระพุทธศาสนา

ผลงานทางนวนิยายอิงหลักธรรมของอาจารย์ นอกจากจะถือได้ว่า เป็นก้าวใหม่ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาด้านวรรณกรรมแล้ว ยังถือได้ว่าเป็นการริเริ่มมิติใหม่ในวงวรรณกรรมของไทยด้วย เพราะหลังจากผลงานชั้นบุกเบิกของอาจารย์ปรากฏสู่บรรณโลกแล้ว ต่อมาไม่นานก็ได้เกิดนวนิยายอิงหลักธรรมโดยนักประพันธ์คนอื่น ๆ ตามมาอีกหลายเรื่อง จนเป็นที่รู้จักกันดีและเป็นที่ชื่นชอบของนักอ่านโดยทั่วไป

ผลงานที่ทำให้อาจารย์เป็นบุคคลอมตะตลอดไปในวงการวิชาการทางพระพุทธศาสนาของไทยก็คือ พระไตรปิฎกฉบับสำหรับประชาชน ซึ่งเป็นการย่อความพระไตรปิฎกจำนวน ๔๕ เล่ม ให้เหลือเพียง ๕ เล่ม ซึ่งภายหลังได้รวมพิมพ์เป็นหนังสือขนาดใหญ่เล่มเดียวจบ นับเป็นผลงานที่อาจารย์ผู้ริเริ่ม และทำเสร็จเป็นคนแรกในประเทศไทย เป็นประโยชน์ต่อการศึกษาพระไตรปิฎก และศึกษาพระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นการช่วยให้คนทั่วไปที่สนใจหรือต้องการจะศึกษาพระไตรปิฎก สามารถอ่านหรือศึกษาได้สะดวกในเวลาอันสั้น ช่วยให้เข้าใจสารัตถะและจับประเด็นสำคัญของคำสอนทั้งหมดของพระพุทธศาสนาได้อย่างถูกต้องโดยไม่ต้องเสียเวลาอ่านพระไตรปิฎกทั้ง ๔๕ เล่ม ซึ่งทั้งยากแก่การทำความเข้าใจและยืดยาวชวนเบื่อสำหรับคนทั่วไป ผลงานชิ้นนี้นอกจากจะเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาและเผยแผ่พระพุทธศาสนาเป็นอย่างมากแล้ว ยังแสดงให้เห็นถึงความแตกฉานในพระไตรปิฎกและความวิริยะอุตสาหะของอาจารย์ ในอันที่จะสร้างสรรค์สิ่งอันเป็นประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนาอีกด้วย

งานริเริ่มในทางวิชาการอีกชิ้นหนึ่งของอาจารย์ ที่ควรแก่การบันทึกไว้ในที่นี้ก็คือ พจนานุกรมศัพท์พระพุทธศาสนา ไทย-อังกฤษ และ อังกฤษไทย ซึ่งอาจารย์ก็ได้ชื่อว่าเป็นผู้ริเริ่มทำขึ้นเป็นคนแรกในประเทศไทย และได้พิมพ์เผยแพร่เป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๔ จากนั้นมาก็ได้มีผู้รู้ท่านอื่น ๆ ได้สร้างงานประเภทนี้ขึ้นมาอีกหลายชิ้น ซึ่งก่อให้เกิดผลดีแก่วงการศึกษาพระพุทธศาสนาของไทยเป็นอย่างมาก

นอกจากความริเริ่มในทางการศึกษา การเผยแผ่ และทางวรรณกรรมแล้ว อาจารย์ยังได้ชื่อว่า เป็นผู้มองเห็นการณ์ไกลในทางวิชาการ เพราะในการจัดตั้งมหาวิทยาลัยสงฆ์ คือสภาการศึกษามหามกุฎราชวิทยาลัยขึ้นนั้น อาจารย์ได้เป็นผู้ชี้นำให้บรรจุวิชาการใหม่ ๆ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาบุคคลากรของคณะสงฆ์ และเอื้อประโยชน์ต่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้พระนักศึกษาได้ศึกษาหลายวิชา เช่น วิชาปรัชญา ตรรกวิทยา ศาสนาเปรียบเทียบ เป็นต้น โดยบรรจุเป็นวิชาบังคับให้พระนักศึกษาได้ศึกษา ตั้งแต่เริ่มเปิดการศึกษาของสภาการศึกษามหามกุฎราชวิทยาลัย เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๙ เป็นต้นมา ซึ่งขณะนั้น ยังไม่มีมหาวิทยาลัยหรือสถาบันอุดมศึกษาใด ๆ ในประเทศไทยเปิดสอนวิชาเหล่านี้ สภาการศึกษามหามกุฎราชวิทยาลัยจึงได้ชื่อว่า เป็นผู้บุกเบิกในการเปิดสอนวิชาดังกล่าวเหล่านี้ในประเทศไทย ต่อมาอีกเกือบ ๒ ทศวรรษ มหาวิทยาลัยของรัฐและสถาบันอุดมศึกษาอื่น ๆ จึงได้เริ่มเปิดสอนวิชาเหล่านี้ขึ้น และได้รับการพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ดังที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน

ตั้งแต่ครั้งยังอยู่ในสมณเพศตลอดมา จนถึงเวลาที่ยังรับราชการอยู่ อาจารย์มักได้รับมอบหมายให้เป็นตัวแทนหรือเป็นหัวหน้าคณะเดินทางไปประชุมหรือดูงาน ในด้านพระพุทธศาสนาและวัฒนธรรมในประเทศต่าง ๆ ทั้งในเอเซีย ยุโรป และอเมริกา อยู่เสมอ

โดยลักษณะส่วนตัว อาจารย์เป็นผู้มีอัทธยาศัยอ่อนน้อม ดำเนินชีวิตแบบสงบและเรียบง่าย มีเมตตากรุณาต่อทุกคน ไม่เบื่อหน่ายในการที่จะให้คำแนะนำหรือปรึกษาในทางวิชาการแก่ศิษย์หรือผู้สนใจ มีวาจาในเชิงสร้างสรรค์และส่งเสริมให้กำลังใจแก่ทุกคนที่มีโอกาสพบปะสนทนาด้วยเสมอ อาจารย์จึงเป็นที่เคารพรักของบรรดาศิษย์และผู้รู้จักคุ้นเคยทั่วไปอย่างจริงจัง

ผลงานในด้านต่าง ๆ ของอาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ เท่าที่สามารถรวบรวมได้ขณะนี้มีดังนี้

ตำรา

 

๑.  พระไตรปิฎกฉบับสำหรับประชาชน (๒๕๐๑)

๒.  พจนานุกรมศัพท์พระพุทธศาสนา ไทย - อังกฤษ อังกฤษ - ไทย (๒๕๐๔)

๓.  ศาสนาเปรียบเทียบ (๒๕๐๔)

๔.  ประวัติศาสตร์ศาสนา (๒๕๐๖)

ความเรียงทางวิชาการ

 

๑.  อริยสัจคืออะไร (๒๔๘๑)

๒.  หลักพระพุทธศาสนา (๒๔๘๙)

๓.  ตายแล้เกิด (๒๔๙๒)

๔.  วัฒนธรรมวิทยา (๒๔๙๗)

๕.  คุณลักษณะพิเศษบางประการแห่งพระพุทธศาสนา (๒๕๐๐)

นวนิยายอิงหลักธรรม

 

๑.  ใต้ร่มกาสาวพัสตร์ (๒๔๘๔)

๒.  กองทัพธรรม (๒๔๙๒)

๓.  ลุ่มน้ำนัมมทา (๒๕๐๓)

๔.  อาทิตย์ขึ้นทางตะวันตก (๒๕๐๕)

๕.  นันทะปชาบดี (๒๕๐๗)

 

ปาฐกถา

 

๑.  งานค้นคว้าภาษาบาลีในตะวันตก (๒๔๘๔)

๒.  อาณาจักรตัวอย่าง (๒๔๘๙)

๓.  วิจารณ์หลักพระพุทธศาสนา ๑๒ ข้อ ของนายคริสตมัส ฮัมเฟรยส์ (๒๔๘๙)

๔.  พระพุทธศาสนา (๒๔๙๑)

๕. ธรรมะชั้นใน (๒๔๙๑)

๖.  สิ่งที่อาจเป็นไปได้ (๒๔๙๒)

๗.  แง่คิดบางประการเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา (๒๔๙๒)

๘.  ความเหนื่อยใจ (๒๔๙๒)

๙.  พระพุทธศาสนากับสันติภาพของโลก

๑๐.  ความรู้เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา (๒๔๙๓)

(แสดงเป็นภาษาอังกฤษ ๒๔๙๓)

 

๑๑.  สหประชาชาติกับพุทธศาสนิกชน (๒๔๙๓)

๑๒.  พระพุทธศาสนาในแง่ปรัชญาและวิทยาศาสตร์ (๒๔๙๔)

๑๓.  ความซื่อสัตย์ต่อหน้าที่ (๒๔๙๔)

๑๔.  ธรรมะกับโรคภัยไข้เจ็บ (๒๔๙๔)

๑๕.  การทำความเข้าใจในพระพุทธศาสนา (๒๕๐๒)

๑๖.  ความเป็นมาแห่งพระไตรปิฎกฝ่ายเถรวาท (๒๕๐๓)

๑๗.  คำบรรยาย  คำถาม คำตอบ ปัญหาทางพระพุทธศาสนา (๒๕๓๑)

บทความและบันทึกเบ็ดเตล็ด

 

๑.  ฐานะที่ไม่ผิด (๒๔๘๕)

๒.  การกลับตัว (๒๔๘๖)

๓. เสกคาถา (๒๔๙๑)

๔.  ชุมนุมบันทึกเบ็ดเตล็ด ๖๕ เรื่อง (๒๔๙๔)

๕.  ชุมนุมบทความสั้น ๆ (ภาค ๑ รวม ๑๕ เรื่อง) (๒๔๙๔)

๖.  ธรรมะของพระพุทธเจ้า (รวม ๕ เรื่อง) (๒๔๙๔)

๗.  พระเวสสันดรทำไม่ถูกจริงหรือ (๒๔๙๕)

๘.  คติธรรม ๕ เรื่อง

นิทานและสุภาษิต

 

๑.  ประชุมนิทานสุภาษิต (รวม ๕ เรื่อง ) (๒๔๙๓)

๒.  สุภาษิตสั้น ๆ

เรื่องแปล

 

๑.  พระสูตรมหายาน ปรัชญาปารมิตาหฤทยสูตร และ สุขาวสดีวยูหสูตร (แปลจากภาษาสันสกฤต - พ.ศ.  ๒๔๙๔)

อ่าน สุชีพ ปุญญานุภาพ : อะไหล่ที่หาไม่ได้
โดย เสฐียรพงษ์ วรรณปก

อ่าน คุณลักษณะพิเศษของอาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ
ปาฐกถาของศาสตราจารย์เกียรติคุณ แสง จันทร์งาม

อ่าน ท่านมาอย่างไร ท่านไปอย่างนั้น
ปาฐกถาของศาสตราจารย์พิเศษ เสฐียรพงษ์ วรรณปก ราชบัณฑิต